อันตรายจาก “น้ำแข็ง-ไอศกรีม” ในหน้าร้อน
ช่วงหน้าร้อนเลือกซื้อน้ำแข็งที่สะอาดได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP ช่วยลดความเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรค ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักเกินควรจำกัดปริมาณในการกินไอศกรีม เพราะมีส่วนผสมของไขมัน และน้ำตาลสูง ทำให้ระดับคอเรสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้นได้
อันตรายจาก “น้ำแข็ง” ในหน้าร้อน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า น้ำแข็งที่ใช้บริโภคหากกระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐาน อาจเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารตามมาได้
ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อน้ำแข็งที่ผลิตถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน GMP ภาชนะบรรจุสะอาด มีฉลาก ต้องเป็นน้ำแข็งที่ผลิตเพื่อการบริโภคไม่ใช่น้ำแข็งที่ใช้ในการแช่อาหารหรือสิ่งของ ซึ่งเมื่อน้ำแข็งละลายจะต้องใส ไม่มีตะกอนขาวขุ่นๆ อยู่ก้นแก้ว
ส่วนผู้จำหน่ายน้ำแข็งต้องคำนึงถึงความสะอาดและปลอดภัย สถานที่เก็บรักษาเพื่อจำหน่ายต้องมีระดับสูงกว่าทางเดิน ง่ายต่อการทำความสะอาด และไม่มีสิ่งปนเปื้อนในน้ำแข็ง ภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำแข็งต้องสะอาด ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค หากเป็นน้ำแข็งที่บรรจุในถุงพลาสติกจะต้องเป็นพลาสติกไม่มีสี และไม่บรรจุในถุงพลาสติกที่ผ่านการใช้มาแล้วหรือเป็นถุงที่เคยบรรจุสารเคมีมาก่อน เช่น สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือปุ๋ย เป็นต้น
ถ้าบรรจุในถังน้ำแข็งต้องเป็นถังที่บรรจุน้ำแข็งอย่างเดียว ยกเว้นให้มีได้เฉพาะที่ตักน้ำแข็งมีด้าม เพื่อใช้ตักน้ำแข็งเท่านั้นไม่ควรใช้แก้วหรือกระเบื้องในการจ้วงตักน้ำแข็ง ถ้าพบว่ามีการนำขวดน้ำดื่ม น้ำอัดลม ผักหรือเนื้อสัตว์ แช่รวมกันอยู่ในถังน้ำแข็งนั้น ก็ไม่ควรนำมาใช้เพื่อการบริโภค
“ไอศกรีม” บริโภคแต่พอดี เสี่ยงอ้วน
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ที่นิยมเลือกกินไอศกรีมเป็นของหวานเพื่อคลายร้อน ควรจำกัดปริมาณในการกิน โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน เพราะไอศกรีมมีส่วนประกอบหลักคือ ครีม น้ำนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม เช่น โยเกิร์ต นมผง นมเปรี้ยว แถมยังมีสารที่ให้รสชาติหวาน เช่น กลูโคสไซรัป ฟรุกโตส น้ำผึ้ง หรืออาจมีน้ำมันพืช ไข่ กะทิเพิ่มด้วย หากกินมากเกินไปอาจทำให้ผู้บริโภคน้ำหนักเพิ่มขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงไอศกรีมที่มีไขมันสูง และควรระวังน้ำตาลที่อยู่ในไอศกรีมด้วย เนื่องจากไอศกรีมบางประเภทโฆษณาว่ามีไขมันศูนย์เปอร์เซ็นต์ แต่กลับพบว่ามีน้ำตาลสูงถึง 3.5 – 6.5 ช้อนชา
ผู้ที่มีคอเรสเตอรอลในเลือดสูงจึงควรเลือกกินไอศกรีมที่มีไขมันน้อยหรือไม่มีไขมันเลย เช่น ไอศกรีมเชอร์เบต ส่วนผู้ที่มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ควรกินไอศกรีมเป็นครั้งคราวและจำกัดคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และน้ำตาลในอาหารทุกชนิด เนื่องจากส่วนผสมของไขมันและน้ำตาลที่มีอยู่ในปริมาณมาก มีผลทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้นได้
ทั้งนี้ ผู้ต้องการลดน้ำหนักควรหลีกเลี่ยงไอศกรีมที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เนื่องจากไอศกรีมดัดแปลง 1 แท่ง ประกอบด้วยไขมันอิ่มตัว นมผง หางนม น้ำตาล ซึ่งให้พลังงาน 150 – 230 กิโลแคลอรี มีน้ำตาลอยู่ 4 – 5 ช้อนชา โดยใน 1 วัน ไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา และก่อนซื้อควรดูฉลากโภชนาการเป็นส่วนประกอบก่อนการบริโภค เพื่อให้ทราบปริมาณพลังงาน น้ำตาลและไขมัน จะได้หลีกเลี่ยงไม่ให้กินมากเกินไปและเลือกกินไอศกรีมจากผู้ผลิตที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ เพื่อลดความเสี่ยงโรคระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากไอศกรีมที่ไม่สะอาด