เป็นหรือเปล่า? ทำไม "เครียด" แล้ว "หิว" มากกว่าเดิม
บางคนเครียดแล้วน้ำหนักลด แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่เครียดแล้วหิว กินจุกว่าเดิม รู้ตัวอีกทีน้ำหนักก็ขึ้นเอาๆ จนยากเกินจะควบคุม ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? แล้วมีวิธีแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร Sanook Health มีคำอธิบายจาก พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท จากเพจ Pleasehealth Books มาฝากกัน
ทำไม "เครียด" แล้ว "หิว" มากกว่าเดิม
การตอบสนองต่อความเครียดของคนเราต่างกัน โดยเฉพาะในเรื่องการกิน บางคนเครียดแล้วกินอะไรไม่ลง ในทางตรงข้าม บางคนยิ่งเครียดยิ่งหิว ในทางวิทยาศาสตร์นั้น อาการเครียดที่เกิดขึ้นเรื้อรัง ส่งผลให้มีอาการ Overeating หรือ หิวเก่งได้
ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่างๆ หนึ่งคือ คอร์ติซอล หรือฮอร์โมนเครียด และสองคือ เกรลิน หรือฮอร์โมนหิว ซึ่งต่างไปมีผลต่อสมองให้ส่งสัญญาณหิวมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลในปริมาณสูง จะเป็นอาหารที่เติมเต็มความรู้สึกหิวยามเครียดได้ดี
วิธีแก้ปัญหา “เครียดแล้วหิว”
สำหรับวิธีการจัดการกับอาการหิวเมื่อเครียดนั้น แนะนำดังนี้
- พยายามลดระดับฮอร์โมนเครียด ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังแบบกลางแจ้งที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดธรรมชาติ ต้นไม้ใบหญ้า การนั่งสมาธิก็เป็นอีกวิธีที่พบว่าช่วยลดระดับฮอร์โมนเครียดได้ดี
- ลดระดับฮอร์โมนหิว ด้วยการเพิ่มโปรตีนดีเช่น ไข่ ปลา ไก่ เต้าหู้ ถั่ว ในมื้ออาหาร โดยในหนึ่งมื้อควรเป็นพลังงานจากโปรตีนดีราว 30% นอกจากโปรตีนแล้ว ไขมันดีเช่น น้ำมันมะกอก อะโวคาโด ถั่วเปลือกแข็งต่างๆ ก็มีส่วนช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนหิวได้ดี
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อาจตั้งเป้าที่วันละ 7-8 ชม. โดยพยายามเข้านอนและตื่นนอนในเวลาที่ใกล้เคียงกันในแต่ละวัน การอดนอนเรื้อรังจะส่งผลเพิ่มระดับฮอร์โมนเครียดและฮอร์โมนหิวได้
สุดท้ายแล้วทางแก้ไขในระยะยาว คือการจัดการกับต้นเหตุของปัญหาที่ก่อให้เกิดความเครียด หลังจากอ่านบทความนี้จบ อยากชวนคุณผู้อ่านหลับตา หายใจเข้านับ 1-4 แล้วหายใจออกทางปากช้าๆ นับ 1-8 ลองทำต่อเนื่องสัก 5 รอบ อย่างน้อยก็น่าจะช่วยคลายเครียดให้ได้สักหนึ่งนาที