อัตราส่วนรอบเอว/รอบสะโพก บอกความเสี่ยง "โรคมะเร็ง" ได้
แม้ว่าผู้หญิงสมัยนี้จะใส่ใจเรื่องสุขภาพและอาหารการกินมากขึ้น แต่ก็ยังพบว่ามีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเป็นคนเจ้าเนื้อหรือค่อนข้างอ้วน ซึ่งนอกจากจะทำให้ขยับเขยื้อนร่างกายได้ไม่คล่องตัว และส่งผลเสียต่อสุขภาพแล้ว ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนที่นำไปสู่โรคมะเร็งด้วย
ค่า WHR มีผลต่อความเสี่ยงโรคมะเร็ง
โดยล่าสุด ผลการศึกษาจากกองทุนวิจัยมะเร็งโลก (WCRF) พบความเกี่ยวข้องกันระหว่างอัตราส่วนรอบเอวต่อรอบสะโพก (Waist to Hip Ratio : WHR) กับโรคมะเร็ง ซึ่งคนที่มีค่า WHR ค่อนข้างสูง มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้
ค่า WHR คำนวณจากอะไร
ค่า WHR จะคำนวณจากความยาวเส้นรอบเอว (หน่วยเป็นเซนติเมตร) แล้วหารด้วยความยาวเส้นรอบสะโพก (หน่วยเป็นเซนติเมตร) ซึ่งค่าที่ได้จะเป็นจุดทศนิยม โดยค่าเฉลี่ย WHR ในผู้หญิงหากเกิน 0.85 ถึงว่าเริ่มอ้วนลงพุงแล้ว ขณะที่ผู้ชาย ถ้าเกิน 0.90 จะถือว่าเริ่มอ้วนแล้วเช่นกัน
ค่า WHR ยิ่งสูง ยิ่งเสี่ยงเป็นมะเร็ง
ผลการศึกษา พบว่า ค่า WHR ที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 0.1 จะทำให้โอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเพิ่มสูงขึ้น โดยหญิงรายหนึ่งที่มีอัตราส่วนรอบเอวต่อรอบสะโพกเพิ่มขึ้นจาก 0.7 เป็น 0.8 พบว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นถึง 21 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม หากดูแลสุขภาพให้ดี ไม่ให้น้ำหนักมากจนเกินไป นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคสุดฮิตอย่าง เบาหวาน และโรคอ้วนได้แล้ว ก็ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้ด้วยเช่นกัน