มีจริงหรือ? “อาหารเสริมและวิตามิน” รักษา “ผมบาง” ได้
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เผยการใช้อาหารเสริมและวิตามินต่างๆ เพื่อช่วยรักษาโรคผมบาง ส่วนใหญ่ไม่ได้มีหลักฐานทางวิชาการทางคลินิกว่าสามารถช่วยทำให้ผมบางดีขึ้นได้ มีเพียงหลักฐานทางการศึกษาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าอาจจะมีส่วนช่วยเรื่องผมร่วง แต่ยังจำเป็นที่ต้องรอการศึกษามากกว่านี้จึงจะสรุปผลได้
“อาหารเสริมและวิตามิน” รักษา “ผมบาง” ได้
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาหารเสริมและวิตามินสำหรับเส้นผมและผิวหนังเป็นที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันนี้ แต่อาหารเสริมและวิตามินส่วนใหญ่ไม่ได้มีหลักฐานทางวิชาการทางคลินิกว่าสามารถช่วยทำให้ผมบางดีขึ้นได้ หรืออาจมีเพียงการทดสอบในสัตว์ทดลองเท่านั้น ไม่ได้มีหลักฐานทางประสิทธิผลและความปลอดภัยในคน
ตัวอย่างเช่น วิตามินเอ ยังไม่พบว่ามีหลักฐานทางการศึกษาใดแสดงถึงการที่วิตามินเอช่วยในการรักษาโรคผมร่วงได้ ส่วนวิตามินซีมีส่วนช่วยในด้านสุขภาพและการเจริญของเส้นผมในสัตว์ทดลองแต่ยังไม่มีหลักฐานทางการศึกษาในคนที่แสดงว่าวิตามินซีช่วยทำให้มีผมขึ้นมากขึ้น
ขาดวิตามินดี ปัจจัยเสี่ยงผมร่วง
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การมีวิตามินดีต่ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผมร่วงมากขึ้น เช่น โรคผมผลัด ผมร่วงเป็นหย่อม และโรคผมบางจากกรรมพันธุ์ในเพศหญิง ผู้ป่วยที่มีภาวะผมร่วงและมีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำควรรับประทานวิตามินดีเสริม
อาหารเสริม-วิตามินอื่นๆ กับสุขภาพผม
- วิตามินอี ผู้ที่รับประทานวิตามินอีมีผมขึ้นมากกว่าผู้ที่ไม่รับประทานวิตามินอีแต่ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องน้ำหนักของเส้นผม อย่างไรก็ดี ควรรอผลการศึกษาที่เก็บรวบรวมข้อมูลมากกว่านี้
- ไบโอติน (Biotin) ไม่มีผลกับวงจรชีวิตของผมหรือการสร้างต่อมผม ยังไม่พบรายงานการศึกษาที่แสดงถึงว่าไบโอตินช่วยทำให้ผมขึ้นยกเว้นในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดไบโอติน เช่น หญิงตั้งครรภ์หรือมีภาวะการดูดซึมอาหารผิดปกติ
- สังกะสี (Zinc) ช่วยให้เส้นผมหนามากขึ้น แต่จากการประเมินโดยผู้ป่วยพบว่าไม่มีความแตกต่างทางคลินิก หลักฐานทางการศึกษายังไม่ได้มีจำนวนมากพอที่จะสามารถให้คำแนะนำผู้ป่วยให้รับประทานสังกะสีในทุกรายที่มีผมบางจากกรรมพันธุ์ และภาวะการขาดธาตุเหล็กเป็นสาเหตุของอาการผมร่วงที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิง โดยเฉพาะในผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติหรือในหญิงที่มีประจำเดือนมาก การรับประทานเหล็กเสริมจึงอาจมีประโยชน์ในคนที่อาจมีเหล็กต่ำ ดังสาเหตุข้างต้น
วิตามิน และวิตามินซี ยังไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนในการรับประทานเสริมเพื่อช่วยเรื่องผมร่วงในปัจจุบัน (วิตามินซีมีส่วนช่วยในด้านสุขภาพ และการเจริญของเส้นผมในสัตว์ทดลองแต่ยังไม่มีหลักฐานทางการศึกษาในคน) พบว่าไบโอติน วิตามินดีและเหล็กมีหลักฐานสนับสนุนว่ามีประโยชน์ในคนที่ขาดวิตามินเหล่านี้ ส่วนวิตามินอีและสังกะสีมีเพียงหลักฐานทางการศึกษาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าอาจจะมีส่วนช่วยเรื่องผมร่วง แต่ยังไม่มากพอที่จะสรุปผลได้จำเป็นที่ต้องมีการศึกษามากกว่านี้