โรคทนรอไม่ได้ (Hurry Sickness) กับ 10 สัญญาณที่บอกว่าคุณเสี่ยงอยู่หรือไม่?
หงุดหงิดง่าย ใจร้อน คิดเร็วทำเร็วเกินไป หรืออาจจะเผลอขับรถเร็วเกินไปโดยไม่รู้ตัว อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณของ “โรคทนรอไม่ได้” คุณกำลังเป็นอยู่หรือเปล่า?
โรคทนรอไม่ได้ (Hurry Sickness) คืออะไร?
ข้อมูลจาก สสส. ระบุว่า โรคทนรอไม่ได้ เป็นโรคที่เกิดขึ้นหลังจากที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเรามากขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ที่เสพติดการเล่นโซเชียลเป็นชีวิตจิตใจ จากคนที่ใจเย็น สามารถทนรอบางสิ่งบางอย่างได้ พฤติกรรมจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคน กลายเป็นคนขี้เบื่อ ใจร้อน หงุดหงิดง่าย เครียดได้ง่าย แม้แต่เรื่องเล็กน้อย เช่น ทนรอการดาวน์โหลดรูปภาพนานๆ ไม่ได้ หรือแม้กระทั่งรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งเมื่อคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือเกิดอาการค้าง บางรายถ้าอาการหนักอาจรู้สึกกระวนกระวายใจเป็นอย่างมาก
โรคทนรอไม่ได้ (Hurry Sickness) ส่งผลอย่างไรต่อร่างกายบ้าง?
สำหรับโรคนี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เพราะความใจร้อน และไม่สามารถอดทนรออะไรนานๆ จะทำให้กลายเป็นคนไม่รอบคอบ ไม่ใช้เวลาคิดหรือตัดสินอะไรให้ละเอียดก่อน ไม่รู้จักเรียนรู้ พอเกิดเรื่องอะไรที่ต้องการคำตอบหรือแม้กระทั่งหาของไม่เจอจะรีบถามคนอื่น โดยไม่ผ่านกระบวนการคิดใดๆ ทั้งสิ้น บางรายถ้าร้ายแรงมากๆ อาจเข้าข่ายโรคประสาท หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้ในที่สุด
10 สัญญาณบ่งบอกว่าคุณอาจกำลังเสี่ยงโรคทนรอไม่ได้
จากหนังสือเรื่องTen Symptoms of Hurry Sickness ของ John Mark Comer ระบุ 10 อาการเริ่มต้นของโรคทนรอไม่ได้ เอาไว้ดังนี้
- ขี้รำคาญผิดปกติ
ขี้รำคาญ ขี้บ่นได้ทุกเรื่องทุกวี่วัน เห็นอะไรก็ขัดหูขัดตาไปหมด หาเรื่องบ่นเพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว เพื่อน และคนรักที่อยู่ข้างตัวได้ตลอดเวลา
- เซนซิทีฟมากเกินไปกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
แค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้คุณหงุดหงิดได้อย่างชัดเจน คนขับรถปาดหน้า ขับไม่ทันไฟเขียว คุยแชทแล้วอีกฝ่ายตอบช้า นั่งรอลูกค้าแค่กี่นาทีก็รู้สึกไม่อยากรอแล้ว กดลิฟต์แล้วรอนานก็กดย้ำๆ ร้านอาหารบอกให้รอสักครู่แต่รู้สึกไม่อยากรอแล้วเปลี่ยนร้านทันที ฯลฯ
- กระสับกระส่าย อยู่ไม่เป็นสุข
แม้ว่าจะพยายามใจเย็น ทำอะไรช้าลง แต่ก็ไม่สามารถทำให้คุณอยู่เฉยๆ นิ่งๆ ได้ ดูคลิปยาวๆ ไม่เคยจบ ขี้เกียจอ่านบทความยาวๆ เพราะรู้สึกว่าน่าเบื่อ ทำอะไรค้างๆ คาๆ หรือแม้กระทั่งพยายามจะเข้านอนเร็วแต่สุดท้ายก็คิดนู่นคิดนี่จนนอนไม่หลับ
- ทำงานหนัก หรือต้องหาอะไรทำอยู่ตลอดเวลา
พยายามหาอะไรทำให้ตัวเองยุ่งๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่รู้ว่าเวลาไหนควรจะหยุดพัก ทำนู่นเสร็จทำนี่ต่อ จนสุดท้ายรู้ตัวอีกทีก็ล้มหมอนนอนเสื่อป่วยไข้จากการพักผ่อนไม่เพียงพอ และเหนื่อยทั้งร่างกายและจิตใจมากเกินไป
- ไร้ความรู้สึกไปเสียเฉยๆ
จู่ๆ อ่านข่าวหรือฟังเรื่องราวอันน่าสะเทือนใจที่คนรอบตัวร้องไห้สูดน้ำมูกฟืดฟาดกันไปหมดแล้ว แต่คุณกลับไม่รู้สงสารหรืออินกับเรื่องอะไรใดๆ รู้สึกว่าตัวเองมีเรื่องอะไรให้คิด มีสิ่งที่ต้องทำมากเกินกว่าจะมาเสียเวลากับทำความเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น
- จัดลำดับความสำคัญในชีวิตไม่ได้
คุณทำนู่นทำนี่เยอะแยะเต็มไปหมด แต่คุณไม่สามารถจัดการเรียงลำดับความสำคัญของงานว่าสิ่งใดควรทำก่อน สิ่งใดควรทำทีหลัง ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานไม่ได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น เพราะอาจมัวไปเสียเวลาอยู่แต่กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง
- หมดความสนใจที่จะดูแลร่างกายตัวเอง
ไม่มีเวลาให้กับการนอนหลับให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารดีๆ ในปีหนึ่งๆ คุณน้ำหนักเพิ่มขึ้น และป่วยบ่อยๆ ตื่นเช้ามาก็เหนื่อยแล้ว เข้านอนก็นอนไม่ค่อยหลับ และอาจมีพฤติกรรมในการบริโภคเครื่องดื่มคาเฟอีน เครื่องดื่มน้ำตาลสูง อาการประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปด้วย
- หนีปัญหาด้วยการอะไรมากเกินตัว
เมื่อไรก็ตามที่ไม่มีความรู้สึกที่อยากจะปล่อยวางจิตใจให้อยู่นิ่งๆ สงบๆ คุณอาจหาอะไรทำที่ช่วยดึงความสนใจของคุณออกไปจากความงุ่นง่านวุ่นวายในใจ เช่น สั่งอาหารมากินมากมาย ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป นอนดูซีรีส์ติดต่อกันหลายๆ คืน ไถ social media ดูอะไรเรื่อยเปื่อยไปเรื่อยๆ ไม่หยุด เป็นต้น
- ขาดอารมณ์สุนทรีย์และกิจกรรมทางศาสนา
คุณจำไม่ได้แล้วว่าครั้งสุดท้ายที่เข้าวัดทำบุญ หรือไปโบสถ์ ทำพิธีกรรมทางศาสนาคือเมื่อไร เคยได้ตื่นนอนมาสูดอากาศดีๆ พร้อมเสียงนกเจื้อยแจ้วในตอนเช้าบ้างไหม เดินเล่นในสวนสาธารณะ ปั่นจักรยานสูดอากาศเย็นๆ นั่งริมน้ำมองดูปลาว่ายไปมา หรือนั่งฟังเพลงที่ชอบนิ่งๆ ตั้งแต่เพลงแรกยันเพลงสุดท้ายของอัลบั้ม เป็นต้น
- แยกตัวเองออกมาอยู่คนเดียว
คุณไม่รู้สึกถึงการมีความสัมพันธ์กับคนรอบตัวหลงเหลืออยู่อีกแล้ว คุณคิดว่าคุณอยู่คนเดียวก็ได้สบายใจดี ไม่เหงาไม่ต้องคุยอะไรกับใครก็ได้ แม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มเพื่อน คุณก็เปิดมือถือขึ้นมาดูโน่นนี่โดยไม่อยากร่วมวงสนทนาด้วย อยู่กลางวงเครือญาติก็นั่งเงียบไม่มีปฏิกิริยา หรือไม่ฟังบทสนทนาของคนในครอบครัว
หากเป็นโรคทนรอไม่ได้ ควรทำอย่างไร?
- ตื่นนอนให้เร็วกว่าเดิมอีกสักนิด แล้วกินอาหารเช้าด้วย
วิถีชีวิตอันรีบเร่งที่ทำให้คุณรีบตื่น รีบอาบน้ำแต่งตัว รีบออกไปเรียนไปทำงานอยู่ทุกวัน ทำให้คุณรีบทำทุกอย่างจนติดเป็นนิสัยได้ ลองตื่นมาทำอะไรด้วยความเร็วปกติที่ไม่ต้องรีบจนไฟลนก้น เลือกอาหารเช้าอร่อยๆ ที่กินแล้วช่วยเพิ่มพลังในตอนเช้าได้ คุณภาพชีวิตของคุณก็จะดีขึ้น
- ถึงก่อนเวลานัดอย่างน้อย 5 นาทีเสมอ
การที่ต้องลุ้นทุกวันว่าวันนี้จะไปเรียน ไปทำงาน หรือไปตามที่นัดทันเวลาหรือไม่เป็นประจำ ไม่ได้ส่งผลดีต่อตัวคุณอย่างแน่นอน แค่ถึงก่อนเวลา 5 นาทีก็มีเวลาให้คุณได้เตรียมตัว พักหายใจหายคอ และผ่อนคลายกับกิจกรรมที่จะทำต่อไปได้อย่างมาก
- นับ 1-5 ก่อนหยิบโทรศัพท์
หากไม่ใช่สายเรียกเข้า แต่เป็นเสียงข้อความเข้า อีเมล หรือเสียงการแจ้งเตือนจากโทรศัพท์มือถือดังขึ้น ไม่จำเป็นต้องรีบคว้ามาเช็กเร็วปานสายฟ้าแล่บขนาดนั้น นับ 1-5 ในใจแล้วค่อยหยิบโทรศัพท์มาเช็กก็ได้ ให้สมองของตัวเองได้ประมวลผลคิดเสียก่อนว่าเป็นเสียงอะไร และเรื่องอะไรที่กำลังจะได้อ่าน และควรหาเวลาพักสายตาของตัวเองจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บ้างเป็นบางครั้งบางคราว
- ขับรถตามความเร็วที่กำหนด
เหยียบไม่เกิน 90 กม./ชม. ตลอดระยะเวลาที่ขับรถจากบ้านไปเรียน ไปทำงาน หรือไปทำธุระต่างๆ หากไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอะไรที่เราต้องรีบขับรถ ก็ไม่จำเป็นต้องขับรถเร็วจนติดเป็นนิสัย เพื่อควบคุมอารมณ์ จิตใจ รวมถึงเพื่อความปลอดภัยของคุณเองด้วย
- ทำรายการที่ต้องทำเป็นประจำทุกวัน
สำหรับใครที่ใน 1 วันมีเรื่องที่ต้องทำมากมาย และทำให้ตัวเองยุ่งวุ่นวายจนไม่สามารถจัดการสิ่งที่ควรจะต้องทำให้สำเร็จตรงตามเวลาได้ ควรจดเอาไว้ว่าในวันนี้มีอะไรต้องทำบ้าง และคอยขีดฆ่าออกไปทีละอย่างๆ จนหมด นอกจากนี้การจดสิ่งที่จะทำลงไป สามารถช่วยให้เราเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังได้ดีมากขึ้นด้วย
- โทรหาคนในครอบครัวอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง
หากคุณแยกออกมาอยู่จากครอบครัว ควรติดต่อกับคนที่บ้านอยู่เรื่อยๆ การได้พูดคุยสานสัมพันธ์กับครอบครัวจะทำให้คุณได้รับความอบอุ่น และไม่คิดว่าตัวเองอยู่ตัวคนเดียว คุยเรื่องสัพเพเหระ อัปเดตชีวิตทำอะไรเกิดอะไรขึ้นบ้างเล็กๆ น้อยๆ รับรองว่าแค่ 5-10 นาทีก็ทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้
- หยุดพูดว่า “ไม่มีเวลา”
ถ้าคุณเป็นคนที่พูดคำว่า “ไม่มีเวลา” อยู่บ่อยๆ ควรคิดหาทางจัดการกับเวลาในชีวิตให้ดียิ่งขึ้น และต้องจัดเรียงลำดับความสำคัญให้ได้ว่าอะไรที่มันสำคัญที่ต้องจัดการจริงๆ อะไรที่สามารถตัดออกไปได้ หรือทำอย่างไรถึงจะมีเวลาว่างมากขึ้นได้ ไม่แน่ว่าจริงๆ แล้วคุณอาจมีเวลาแต่คุณไม่เห็นความสำคัญของสิ่งนั้นมากกว่าก็เป็นได้
- มองหาสถานที่หรือสิ่งที่ช่วยทำให้จิตใจคุณสงบได้
สถานที่ การกระทำ หรือสิ่งต่างๆ ที่ช่วยให้เราจิตใจสงบ ไม่ว้าวุ่น ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนอาจค้นพบว่าตัวเองใจเย็นลงเมื่อได้ลองเล่นดนตรี ลองเล่นโยคะ ได้ทำอาหาร ได้นั่งชิมกาแฟแก้วโปรดที่คาเฟ่สวยๆ ได้ฟังเพลงโปรดที่บ้าน ได้วาดรูป ได้ถักนิตติ้ง ได้เดินเที่ยวในป่า ฯลฯ ลองพยายามค้นหาสถานที่หรือกิจกรรมที่ทำให้ใจของคุณสงบให้ได้
- ลองนั่งสมาธิอย่างจริงจัง
หากคุณไม่สามารถข่มจิตใจของตัวเองให้สงบสุข หรือไม่สามารถควบคุมตัวเองให้อยู่นิ่งๆ ได้จริงๆ ลองฝึกนั่งสมาชิกอย่างจริงจังดู
- วางแผนอนาคต
คุณอาจกำลังวุ่นวายอยู่กับวิ่งเต้น กระเสือกกระสนอยู่กับชีวิตอันเร่งรีบ หาเช้ากินค่ำ และไม่ได้อะไรมากไปกว่าพรุ่งนี้มีอะไรต้องทำและจะทำให้เสร็จทันเวลาได้หรือไม่ ลองหาเวลาวางแผนชีวิตของตัวเองในอีกหลายๆ ปีว่ามองตัวเองกำลังทำอะไร เราอยากทำอะไร แล้วเราจะเริ่มทำอะไรในตอนนี้ให้ไปให้ถึงอนาคตที่ตั้งเอาไว้ได้บ้าง ลองกระเถิบออกมามองชีวิตของตัวเองจากมุมมองที่กว้างขึ้นกว่าเดิมอีกนิด
นอกจากนี้ อยากให้ลองหาเวลาพักผ่อนที่เป็นการพักผ่อนจริงๆ เต็มๆ วันดูบ้าง การเดินทาง ไม่คิดเรื่องอะไรที่คิดอยู่ตลอดเวลาและทำให้เครียดอยู่เสมอ ปล่อยมันวางลงและดื่มด่ำกับช่วงเวลาในการเดินทาง นอนนิ่งๆ ให้สมองว่างเปล่า ฟังเสียงคนรอบข้าง เสียงสัตว์ร้องในแหล่งธรรมชาติ มองวิวภูเขาไกลสุดสายตา มองท้องฟ้า สังเกตก้องเมฆไปเรื่อยเปื่อยมาก ก็ช่วยผ่อนคลายสมอง และลดอาการหงุดหงิด และไม่ทำให้การรอเป็นเรื่องทรมานจนเกินไปได้