ฉีดวัคซีน “โควิด-19” 2 เข็มคนละตัว อันตรายหรือได้ประโยชน์?
ตามข่าวเรื่องวัคซีนโควิด-19 กันมาสักระยะจนเริ่มทราบข้อดีข้อเสียของวัคซีนแต่ละตัวกันไปบ้างแล้ว แต่มีอีกหนึ่งข้อสงสัยที่หลายคนอยากทราบ หากฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว อยากจะเปลี่ยนวัคซีนเข็มที่สองเป็นอีกตัวหนึ่ง จะสามารถทำได้หรือไม่ แต่ส่งผลอย่างไรต่อร่างกายบ้าง
- อัปเดต "วัคซีนโควิด-19" มีกี่ชนิด ตัวไหนเข้าไทยบ้าง
- “วัคซีนโควิด-19” ซิโนแวค กับ แอสตร้าเซนเนก้า ทำไมเว้นระยะเข็มแรกกับเข็มที่ 2 ไม่เท่ากัน?
ฉีดวัคซีน “โควิด-19” 2 เข็มคนละตัว ได้หรือไม่?
ข้อมูลจากแพทย์ศิริราช จุฬาลงกรณ์ และรามคำแหง รวมถึงข้อมูลจากโรงพยาบาลนครธน ระบุตรงกันว่า ทางทฤษฎีสามารถทำได้ แต่สำหรับในประเทศไทยยังไม่แนะนำ เพราะปัจจุบันยังมีข้อมูลความปลอดภัย รวมถึงประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสสำหรับการฉีดวัคซีนสองตัวที่ต่างกันมากเพียงพอ นอกจากนี้สำหรับในประเทศไทย เมื่อเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว จะทำการจองเข็มที่ 2 โดยอัตโนมัติ การขอเปลี่ยนเป็นวัคซีนอีกตัวหนึ่ง อาจทำให้การดำเนินการช้าลงได้
อย่างไรก็ตาม หากในบางรายที่แพทย์ลงความเห็นว่ามีความจำเป็นควรฉีดวัคซีนคนละตัว ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
ทางด้านของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐ (CDC) อัปเดตข้อมูลล่าสุด (13 พ.ค.) ยังแนะนำว่า วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่สามารถฉีดได้เลยตอนนี้โดยไม่ต้องรอ ไม่ว่าจะเป็นแบบใดยี่ห้อใด เพราะวัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ได้รับการรับรองแล้วว่าปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และช่วยลดความรุนแรงของโรคหากติดเชื้อได้จริง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากเฟซบุ๊กเพจ Virology and Cell Technology Lab - BIOTEC ระบุว่า หลักการใช้วัคซีนต่างชนิดกันไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการพัฒนาวัคซีน เราเรียกหลักการนี้ว่า Heterologous prime-boost โดยทางประเทศจีนได้มีการทดลองกับวัคซีน 4 รูปแบบที่มีการวิจัยและพัฒนาในประเทศจีน คือ BBIBPCorV ซึ่งเป็นเชื้อตายของ Sinopharm, Ad5-nCoV ซึ่งเป็นอะดีโนไวรัสของ Cansino, ZF2001 ซึ่งเป็น recombinant RBD spike ของ Anhui Zhifei และ ARcoVax ซึ่งเป็น mRNA น้องใหม่มาแรงของ รัฐบาลจีนร่วมกับ Walvax Biotech โดยทำการฉีดวัคซีนแต่ละชนิดแบบสลับกันในหนูทดลอง แล้ว ศึกษาการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโรค COVID-19 ทั้งในรูปแบบของแอนติบอดีล้างฤทธิ์ (Nab) และ การตอบสนองแบบพึ่งเซลล์ (T cell response) เปรียบเทียบกับใช้วัคซีนชนิดเดียวกัน 2 เข็ม ผลปรากฏว่า ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่าง Sinopharm, Cansino และ Anhui แบบ 2 เข็ม ตัวที่ได้ค่า Nab สูงสุดคือ Anhui ขณะที่ อีกสองชนิดได้ผลใกล้เคียงกัน แต่ถ้ามีการใช้ร่วมกันระหว่าง Sinopharm กับ Cansino ไม่ว่าจะฉีดตัวไหนก่อนหลัง ค่า Nab สามารถกระตุ้นได้สูงขึ้นจากเดิมไปอีก 10 เท่า พอๆ กันกับที่ได้จาก Anhui 2 เข็ม
แต่การจับคู่วัคซีนต่างชนิด รวมถึงลำดับในการฉีดว่าชนิดใดควรฉีดเป็นเข็มแรก ชนิดใดควรฉีดเป็นเข็มที 2 ก็สำคัญเช่นกัน โดยจากการทดลองเดิมพบว่า ตัว Anhui ที่กระตุ้น Nab ดีอยู่แล้ว เวลาไปใช้ร่วมกับวัคซีนตัวอื่น ภูมิก็ยังได้สูงพอๆ กับที่ใช้แบบเดียวกัน 2 เข็ม ไม่ได้เห็น ผลชัดเหมือนรูปแบบอื่น รวมไปถึง การใช้ Sinopharm แล้วไปกระตุ้นด้วย Auhui ซึ่งเป็น protein-based เหมือนกัน การกระตุ้นไม่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับการกระตุ้นด้วยไวรัสของ Cansino แสดงว่า ความแตกต่างของระบบวัคซีนเหมือนมีผลเช่นเดียวกัน ในส่วนของ ArcoVax ซึ่งเป็น mRNA ก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน คือ เมื่อเทียบกับการได้รับ mRNA 2 เข็มแล้ว การได้รับวัคซีน Cansino ซึ่งเป็น viral vector เข็มแรก และ กระตุ้นด้วย mRNA ได้ Nab ที่สูงขึ้นไปอีก แต่ถ้าสลับกันจะไม่เห็นผลดังกล่าว
กล่าวโดยสรุปคือ การใช้วัคซีนร่วมกันในหลายรูปแบบสามารถนำมาใช้ได้ และ ดูเหมือนจะให้ประโยชน์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าใช้แบบเดียวกัน 2 เข็มด้วย แต่งานวิจัยนี้ใช้หนูทดลอง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลในมนุษย์เพื่อเปรียบเทียบกัน ซึ่งข้อมูลจากมนุษย์ หรือ ในลิง จะเป็นประโยชน์มากๆ ในอนาคตสำหรับการใช้วัคซีนให้อยู่ในรูปแบบที่ได้ประโยชน์สูงสุด
ในต่างประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนต่างชนิดกับประชาชนในประเทศแล้ว
จริงๆ แล้วในทางทฤษฎี การฉีดวัคซีนที่ใช้ปริมาณ 2 เข็ม หรือ 2 โดส (หรือวัคซีนใดๆ ก็ตามที่ต้องฉีดมากกว่า 1 เข็ม) สามารถใช้วัคซีนคนละตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหรือเพิ่มภูมิต้านทานโรคได้ โดยในหลายๆ ประเทศเริ่มมีการทดลองให้ประชาชนอาสาสมัครฉีดวัคซีนต่างกัน เช่น
- จีน เริ่มมีการทดลองให้ประชาชนฉีดเข็มแรกเป็นซิโนฟาร์ม และเข็มที่ 2 เป็นซิโนแวค
- อังกฤษ เริ่มมีการให้ฉีดเข็มแรกเป็นไฟเซอร์หรือแอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยเข็มที่สองที่สลับกันจากสองตัวนี้ หรืออาจจะเป็นตัวใหม่เอี่ยมอย่างโมเดอร์นา หรือโนวาแว็กซ์
- สเปน เริ่มทดลองฉีดเข็มแรกเป็นแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 เป็นไฟเซอร์
ในขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างเก็บข้อมูลเพราะเริ่มทำการฉีดวัคซีนแบบผสมสองชนิดไปไม่นาน แต่ทางด้านของสเปนที่เข็มแรกเป็นแอสตร้าฯ เข็มที่ 2 เป็นไฟเซอร์ รายงานข้อมูลว่ามีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง ในขณะที่อังกฤษ การฉีดเข็มแรกและเข็มที่ 2 ต่างชนิดกัน คือแอสตร้าฯ ผสมไฟเซอร์ ไม่ว่าจะฉีดตัวไหนก่อนก็ตาม พบว่ามีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากคนที่ฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน 2 เข็ม โดยผลข้างเคียงที่พบเป็นอาการเพียงเล็กน้อยที่สามารถหายได้เองในเวลาสั้นๆ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีรายงานอันตรายต่อสุขภาพใดๆ มากไปกว่าผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการฉีดวัคซีนแบบผสมทั้งสองแบบ
สรุป การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกและเข็มที่ 2 ต่างชนิด ต่างยี่ห้อกัน ในทางทฤษฎีสามารถทำได้ โดยอาจจะสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคได้มากขึ้น แต่ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงของการทดลอง และยังต้องติดตามข้อมูล รวมถึงความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละตัวว่าได้ผลน้อยมากแตกต่างกันจากการฉีดวัคซีนแบบเดียวกัน 2 เข็มอย่างไรบ้าง รวมไปถึงการเลือกชนิดของวัคซีนในการฉีด และลำดับเข็มในการฉีดว่าจะต้องฉีดวัคซีนตัวไหนก่อนหลังถึงจะดีกว่ากันอีกด้วย ดังนั้นจากสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยจึงยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันทั้ง 2 เข็มไปก่อน เพื่อความรวดเร็วและสะดวกในการบันทึกประวัติในการฉีดวัคซีน และเพื่อรอยืนยันผลการทดลองต่อไป