4 เคล็ดลับกินอาหารอย่างไร ห่างไกลโรคที่มากับหน้าฝน

4 เคล็ดลับกินอาหารอย่างไร ห่างไกลโรคที่มากับหน้าฝน

4 เคล็ดลับกินอาหารอย่างไร ห่างไกลโรคที่มากับหน้าฝน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ด้วยไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันที่ผู้คนนิยมสั่งอาหารผ่านทางแอปเดลิเวอรี่ต่างๆ และหันมาทำอาหารเองเพิ่มมากขึ้น การให้ความสำคัญด้านสุขอนามัย ความสะอาดของวัตถุดิบและเมนูอาหารต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงฤดูฝนที่มีหลากหลายสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ เช่น กลุ่มโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุงเป็นพาหะนำโรค รวมถึงกลุ่มโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร หากเราไม่ดูแลป้องกันตัวเองให้ดี

เราขอรวบรวมเคล็ดลับในการรับประทานอาหารอย่างปลอดภัย ที่ทำได้ง่ายๆ มาฝาก เพื่อช่วยเสริมคุณค่าทางโภชนาการและสุขภาพที่ดีของทุกคนในครอบครัว

  1. รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารที่มักจะมาพร้อมกับฤดูฝน เช่น ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ปรุงอาหารด้วยความร้อนเกิน 100 องศาเซลเซียส สำหรับน้ำดื่ม ก็ควรต้องผ่านการต้มสุกก่อนด้วย เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่มากับความชื้นในหน้าฝน
  2. ทำความสะอาดและเก็บรักษาวัตถุดิบให้สดใหม่ ก่อนปรุงอาหาร ควรล้างผัก ผลไม้ และวัตถุดิบทุกชนิดให้สะอาดหมดจด เก็บรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม เพื่อช่วยยืดอายุและรักษาคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้นานยิ่งขึ้น การเก็บเนื้อสัตว์และอาหารทะเล ควรล้างทำความสะอาดและซับให้แห้งก่อนนำเข้าตู้เย็น โดยใส่ในกล่องที่มีฝาปิดสนิทหรือถุงซิปล็อกเพื่อคงความสดใหม่ สำหรับผักสด ควรแยกประเภทของผักก่อน จากนั้นห่อด้วยกระดาษหรือพลาสติกให้มิดชิด และควรเก็บผลไม้ในถุงซิปล็อกหรือกล่องพลาสติกที่มีรูระบายอากาศเพื่อไม่ให้ผลไม้ชื้น ไม่ควรเก็บผักและผลไม้ไว้ในถุงเดียวกันเพราะผลไม้สุกจะปล่อยก๊าซเอทิลีนออกมา ทำให้ผักที่อยู่ใกล้กันเน่าเสียเร็วขึ้น
  3. ล้างอุปกรณ์เครื่องครัวให้สะอาด อุปกรณ์ทำครัวต่างๆ ที่ถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก หรือที่แขวนเอาไว้ ควรล้างให้สะอาดก่อนใช้งาน เพื่อป้องกันเชื้อราและเชื้อโรค สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้บนโต๊ะอาหาร เช่น ช้อน ส้อม หลังจากทำความสะอาด ควรใช้วิธีผึ่งหรืออบให้แห้ง ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดเด็ดขาด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค
  4. หลีกเลี่ยงอาหารปรุงสุกที่ตั้งทิ้งไว้นานเกินไป อาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานเกินกว่า 2 ชั่วโมง ควรอุ่นใหม่ให้ร้อนอย่างทั่วถึงก่อนนำมารับประทานอีกครั้ง ไม่ควรรับประทานอาหารปรุงสุกที่ตั้งทิ้งไว้นานเกิน 4 ชั่วโมงโดยไม่มีการอุ่นซ้ำ หากซื้ออาหารมาแล้วยังไม่ได้รับประทานในทันที ควรเก็บในตู้เย็น และอุ่นให้ร้อนจนเดือดก่อนนำมารับประทาน ไม่ควรเก็บอาหารที่ปรุงสุกแล้วในตู้เย็นนานเกิน 2-3 วัน นอกจากนี้ หากลืมหรือวางอาหารเอาไว้ในที่อากาศร้อนจัด เช่น ทิ้งไว้ในรถยนต์ นานกว่า 3-4 ชั่วโมง ไม่ควรนำมารับประทานอีก เพราะเชื้อแบคทีเรียอาจเจริญเติบโตแล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook