กิน “ทุเรียน” อย่างไรให้ไม่อ้วนและสุขภาพดี
“ทุเรียน” ราชาผลไม้ที่เป็นที่นิยมของใครหลายๆคน เป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อว่ามีน้ำตาลและแคลอรี่สูง แต่รสชาติที่หวานมันอร่อยของทุเรียน จึงยากมากที่จะอดใจไม่ให้กินได้ ดังนั้นเราควรรู้จักการกินทุเรียนอย่างไรให้ไม่อ้วนและมีสุขภาพดี
ทุเรียน ราชาผลไม้ไทยที่ใครหลายๆ คนโปรดปราน ด้วยรสชาติที่หวานมันอร่อยทำให้ทุเรียนเป็นที่นิยมของคนไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก แต่ทุกครั้งที่กินก็จะเกิดความรู้สึกผิดในใจ เพราะเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลและแคลอรี่สูง หากรับประทานมากเกินไป อาจส่งผลให้เจ็บคอ ร้อนใน และอ้วนขึ้นได้ อย่างไรก็ตามทุเรียนก็ยังถือเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นกัน ดังนั้นเราควรกินทุเรียนอย่างไร ถึงจะไม่อ้วน และส่งผลดีต่อสุขภาพ
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง มีวิตามินซี โพแทสเซียม กรดอะมิโนซีโรโทเนอร์จิก ทริปโตเฟน คาร์โบไฮเดรต โปรตีนและเป็นแหล่งไขมันสดที่ดีในอาหารประเภทที่ไม่ผ่านความร้อน นอกจากนี้ในเนื้อของทุเรียนยังมีสารประกอบซัลเฟอร์หรือกำมะถัน เช่น ไทออล ไทโออีเทอร์ เอสเทอร์ และซัลไฟต์ซึ่งทำให้ทุเรียนมีกลิ่นเฉพาะตัวที่รุนแรง โดยบางคนบอกว่าทุเรียนมีกลิ่นหอม แต่ในขณะที่บางคนกลับมองว่ามันมีกลิ่นเหม็น นิยมรับประทานได้ทั้งสุกและห่ามแล้วแต่คนชอบ ทั้งนี้ยังนำไปใช้ทำอาหารได้อย่างหลากหลาย แม้แต่เมล็ดก็รับประทานได้ แต่ต้องทำให้สุกก่อน
คุณค่าทางโภชนาการของทุเรียน
จากการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการและปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในทุเรียน โดย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย พบว่า ทุเรียนแต่ละสายพันธุ์จะมีคุณค่าทางโภชนาการ และมีปริมาณน้ำตาลที่แตกต่างกันไปตามชนิดหรือสายพันธุ์ ดังนี้
ที่มา: สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการในอาหารไทย)
ประโยชน์ของทุเรียน มีอะไรบ้าง
- กระตุ้นการขับถ่าย
ข้อมูลจากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีใยอาหารค่อนข้างสูง เส้นใยเหล่านี้มีส่วนช่วยในการขับถ่าย โดยทุเรียนมีเส้นใยอาหารประมาณ 3-5% (แล้วแต่สายพันธุ์)
- บำรุงผิวและเส้นผม
จากข้อมูลการศึกษาของ ดร.ภญ.ภัควดี เสริมสรรพสุข พบว่า เนื้อทุเรียนมีสารโพลีฟีนอลส์ และฟลาโวนอยด์ ช่วยต้านอนุมูลอิสระและยังมีวิตามินซี วิตามินอี และ คอลลาเจน บำรุงผิวให้สวย นอกจากนี้ยังมีธาตุอาหารมากมายได้แก่ ทองแดง สังกะสี ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม แมกนีเซียมและสังกะสี ที่ช่วยบำรุงเส้นผม
- ช่วยแก้โรคผิวหนัง ทำให้ฝีและหนองแห้งเร็ว
เนื้อทุเรียนมีกำมะถันเป็นส่วนประกอบหลัก จึงทำให้มีฤทธิ์ร้อน เมื่อรับประทานเข้าไปในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดร้อนในได้ แต่ความร้อนนี้สามารถช่วยแก้โรคผิวหนังได้ ทำให้ฝีและหนองแห้งเร็ว
- ช่วยขับพยาธิ
เนื้อทุเรียนมีกำมะถันที่ให้ความร้อนแก่ร่างกาย ทำให้มีฤทธิ์ขับพยาธิ ช่วยขับพยาธิไส้เดือน อีกทั้งใบทุเรียนยังมีสรรพคุณขับพยาธิได้อีกทาง แถมยังแก้ดีซ่านได้ด้วย
- แก้ท้องร่วง
รากทุเรียนเมื่อนำมาต้มกับน้ำแล้วนำมาดื่ม จะช่วยรักษาอาการท้องร่วงได้
- แก้ไข้
ใบและรากทุเรียนสามารถนำมาสกัดเป็นยาแก้ไข้ได้
- รักษากลาก เกลื้อน สมานแผล
เปลือกทุเรียนสามารถใช้รักษากลาก เกลื้อน สมานแผล แก้น้ำเหลืองเสีย รักษาแผลพุพอง แก้ฝี และตานซาง นอกจากนี้การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของทุเรียนยังพบว่า สารโพลีแซคคาไรด์ เจล (Polysaccharide gel) ที่ได้จากเปลือกทุเรียนมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด และเมื่อนำสารดังกล่าวไปพัฒนาเป็นแผ่นฟิล์มปิดแผลก็พบว่า มีสรรพคุณช่วยสมานแผลและลดการอักเสบของแผลได้เป็นอย่างดี
เคล็ดลับในการกินทุเรียนให้ไม่อ้วนและสุขภาพดี
- เลือกกินทุเรียนห่ามจะดี เพราะทุเรียนที่สุกเกินไปจะมีปริมาณน้ำตาลมาก
- ไม่ควรกินทุเรียนเกินวันละ 2 เม็ดขนาดกลาง (หนักประมาณ 80 กรัม) และไม่ควรกินถี่ทุกวัน เพราะหากกินมากเกินไป อาจส่งผลให้เจ็บคอ ร้อนใน และน้ำหนักเกินได้
- ควรหลีกเลี่ยงการกินทุเรียนกับน้ำกะทิ เพราะน้ำตาลจากทั้งทุเรียน ข้าวเหนียว และไขมันจากน้ำกะทิ อาจส่งผลให้อ้วนและเกิดอาการร้อนในได้ และควรลดอาหารกลุ่มข้าว-แป้ง 1 ทัพพีและของหวานในมื้อที่กินทุเรียน
- อาจกินทุเรียนคู่กับมังคุด ข้อมูลจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระบุว่า มังคุดเป็นผลไม้ ที่มีฤทธิ์เย็นที่ช่วยต้านความร้อนที่เกิดจากกินทุเรียนได้ และมังคุดมีเส้นใยอาหารสูง มีสารต้านการอักเสบช่วย แก้ร้อนในและยังมีน้ำในปริมาณมาก ซึ่งเหมาะกับการกินคู่กับทุเรียน
- ไม่ควรกินทุเรียนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทุเรียนเป็นอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ให้พลังงานสูงเช่นเดียวกัน เมื่อกินทุเรียนร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะได้รับพลังงานที่มากเกินไป ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดกระบวนการ เผาผลาญเพื่อกำจัดของเสียเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ กรดกำมะถันในทุเรียนจะทำให้เอนไซม์ที่กำจัดสารพิษจากกระบวนการเผาผลาญลดลง หากมีปัญหาสุขภาพหรือโรคประจำตัวอาจทำให้เกิดอาการหน้าแดง ชา วิงเวียนและอาเจียน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง ควรระมัดระวังเรื่องการกินทุเรียนมากกว่าคนทั่วไป อาจกินได้แต่ต้องกินในปริมาณน้อยกว่าคนปกติและไม่บ่อยเกินไป เพราะการกินทุเรียนปริมาณมากหรือกินทุเรียนบ่อยเกินไป จะส่งผลต่อระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดได้
Story: Pornnapat W.