ก่อน "วิ่ง" ควรตรวจอะไรบ้าง เพื่อลดเสี่ยง "กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน"

ก่อน "วิ่ง" ควรตรวจอะไรบ้าง เพื่อลดเสี่ยง "กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน"

ก่อน "วิ่ง" ควรตรวจอะไรบ้าง เพื่อลดเสี่ยง "กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักวิ่งที่เสียชีวิตกะทันหันจากอาการ “กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน” มาจากการไม่ได้ตรวจร่างกายให้ละเอียดก่อนลงแข่งวิ่ง เพราะฉะนั้นก่อนวิ่งจริงจัง โดยเฉพาะคนที่จะลงแข่งวิ่งมาราธอน ควรตรวจร่างกายให้ละเอียด

ทำไมนักวิ่งที่ดูแข็งแรง ถึงเสียชีวิตระหว่างวิ่งได้?

นพ.ณัฐพล เก้าเอี้ยน สถาบันหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระราม 9 ระบุว่า ปัจจุบันการวิ่งนับว่าเป็นกีฬาอีกหนึ่งชนิดที่สังคมไทยนิยมกันมากขึ้น จึงทำให้หลายคนหันมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งหรือเข้าร่วมในการวิ่งมาราธอน  ในขณะเดียวกัน สุขภาพที่ไม่พร้อมก่อนการวิ่งก็เป็นปัจจัยหลักสำคัญที่อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เกิดอาการหมดสติและเสียชีวิตขณะวิ่งมาราธอนได้

แม้ว่าใจจะพร้อม แต่ร่างกายอาจจะยังไม่เคยตรวจเช็กความพร้อมมาก่อน ก็อาจมีภาวะความผิดปกติของสมรรถภาพหัวใจเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ เพียงแต่มันยังไม่เคยแสดงอาการผิดปกติออกมาในตอนที่คุณยังไม่ได้ใช้ร่างกายหนักๆ เหมือนกับตอนออกวิ่ง

อันตราย หากวิ่งแข่งหนักๆ โดยยังไม่ตรวจร่างกาย

ในนักวิ่งอายุน้อยกว่า 35 ปี สาเหตุความผิดปกติอาจเกิดจากหัวใจเต้นผิดปกติ หรือในนักวิ่งที่อายุมากแล้ว สาเหตุความผิดปกติก็อาจเกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบและแตกจนกระทั่งมีลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดจนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

ก่อน "วิ่ง" ควรตรวจอะไรบ้าง เพื่อลดเสี่ยง "กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน"

  • เช็ก Calcium score ประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจ

การตรวจแคลเซียมหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Calcium Detection) เป็นทางเลือกหนึ่งในการเช็กความพร้อมของร่างกายที่จะเกิดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดหัวใจ CT Coronary Calcium Score สามารถตรวจวัดระดับแคลเซียมที่ผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ และสามารถตรวจวัดได้ก่อนมีอาการของโรคหัวใจนานหลายปี ซึ่งค่าที่ได้จะบอกโอกาสการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบในอนาคต

นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือสูบบุหรี่ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมากขึ้นหลายเท่าตัว จึงควรได้รับการตรวจเพื่อที่จะนำข้อมูลไปประกอบการคำนวณอัตราเสี่ยงและมาตรการตรวจรักษา ป้องกัน ที่เหมาะสมกับบุคคลได้

  • เช็กด้วย การวิ่งสายพาน (EST: Exercise Stress Test)

หากจะอธิบายให้เห็นภาพการตรวจนี้ก็คือ เหมือนเป็นการเลียนแบบสถานการณ์ตอนที่คุณวิ่งออกกำลังกายจริงๆ เพียงแต่เป็นการมาวิ่งบนลู่วิ่งสายพานที่โรงพยาบาล โดยมีเครื่องตรวจหาความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือดติดอยู่ที่ตัวขณะวิ่ง เป็นวิธีตรวจสมรรถภาพของระบบไหลเวียนเลือด ระบบหายใจ และระบบกล้ามเนื้อโดยรวม ซึ่งจะดูได้ว่าเมื่อมีการออกกำลังกาย หัวใจจะมีความต้องการในการใช้ออกซิเจนจากเลือดเพิ่มมากขึ้น จะเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดขึ้นหรือไม่ 

หากผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอจะมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ ในบางราย แพทย์อาจแนะนำให้สวมเครื่อง S-Patch Cardio เครื่องมือวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดต่างๆ ที่สามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคหัวใจ หรือหัวใจวายเฉียบพลันได้ โดยที่ตัวเครื่องมี AI เข้ามาช่วยในการตรวจจับจังหวะ และรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ผล ทางคลินิก โดย AI algorithms สำหรับการวิเคราะห์ผลเบื้องต้นทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านหัวใจสามารถตรวจสอบผลที่ได้รับและยืนยันผล หรือให้ความเห็นหรือการวิเคราะห์เพิ่มเติมได้

นักวิ่งที่เริ่มวิ่งจริงจัง ควรให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพก่อนวิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสุขภาพของหัวใจ ที่จะช่วยทำให้เรารู้ลิมิตในการออกกำลังกาย และป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน สาเหตุที่ทำให้นักวิ่งหลายคนเสียชีวิตขณะวิ่งได้อย่างปลอดภัยและหายห่วงมากยิ่งขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook