เตือนภัย! สุ่มตรวจเส้นขนมจีนพบสารกันบูด 100% ทานมากเสี่ยงตับไตพัง-เสียชีวิต
นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2559 สุ่มตรวจขนมจีนทั้งหมด 12 ยี่ห้อ หาสารกันบูดตกค้าง จากแหล่งซื้อต่างๆ พบว่า ตัวอย่างเส้นขนมจีนที่นำมาทดสอบทั้งหมด ทุกยี่ห้อมีการปนเปื้อนสารกันบูดแต่ไม่เกินมาตรฐานร้อยละ 83.33 โดยยี่ห้อที่มีสารกันบูดน้อยที่สุดจากตลาดพระประแดง มีขนมจีนสองยี่ห้อที่มียากันบูดเกินมาตรฐาน คือ ตราดาวจากตลาดยิ่งเจริญ จำนวน 1,121.37 มก./กก. และรองลงมาคือ ไม่มียี่ห้อ จากตลาดสะพานขาวจำนวน 1,115.32 มก./กก.
จากประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 พ.ศ. 2547 ที่ได้กำหนดให้อาหารจำพวกพาสตา ก๋วยเตี๋ยว และผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกัน มีค่ามาตรฐานของสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) ไม่เกิน 1,000 มก./กก.
ข้อมูลยี่ห้อขนมจีนเรียงตามปริมาณสารกันบูด
ที่มา : นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2559
นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มตรวจสารกันบูดตกค้างในขนมจีนทั้งหมด 12 ยี่ห้อ พบว่า ทุกยี่ห้อที่มีปริมาณสารกันบูดตกค้างอยู่ และบางยี่ห้อตกค้างเกินกำหนดของ อย. แม้สารดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการยืดอายุของอาหาร ด้วยการยับยั้งหรือทำลายจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสีย และถูกจัดอยู่ในประเภทพิษปานกลาง ซึ่งร่างกายสามารถขจัดออกมาได้เอง แต่ก็สามารถส่งผลอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการรับประทานอยู่เป็นประจำ ก็อาจมีการตกค้างหรือสะสมในร่างกายหากได้รับ เป็นประจำ หรือในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง หรืออาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นแนะนำให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายไม่จำเจเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงตรงนี้ได้
ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ขนมจีนจะเป็นอาหารกลุ่มทั่วไปที่ไม่ต้องมีฉลาก แต่จากผลการทดสอบจะเห็นว่า ขนมจีนมีการใช้ยากันบูดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคที่จะได้รับข้อมูล ข้อเท็จจริงในการเลือกซื้อสินค้าซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา “เพิ่มมาตรการฉลากหากมีใช้วัตถุกันเสีย รวมทั้งสนับสนุนและตรวจสอบโรงงานผลิตขนมจีน พร้อมรายงานผลตรวจสอบแก่สาธารณะ และขอเรียกร้องให้ อย. เร่งรัด พัฒนาระบบฐานข้อมูล รายงานผลการตรวจสอบอาหารต่างๆ ที่ อย. เคยตรวจมาแล้ว แก่สาธารณะ เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบรายงานความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร เช่นที่ สหภาพยุโรปและประเทศเพื่อนบ้านของเรา คือ มาเลเซีย มีใช้แล้ว” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว