ไอบูโพรเฟน-ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs กับ 5 ข้อควรระวัง อาจเสี่ยงอันตรายต่อไต
อย. เตือน หากกินยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ไม่ถูกวิธี อาจเสี่ยงโรคที่เกี่ยวกับไตได้
ยาแก้ปวดที่เรากินกันอยู่ในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ ยาพาราเซตามอล ยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ NSAID (Non-Sterodical Anti-Inflammatory Drugs) ยาแก้ปวดกลุ่ม COX–2 Inhibitor และ ยาแก้ปวดชนิดเสพติด (กลุ่มอนุพันธ์ของฝิ่นและมอร์ฟีน)
ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-inflammatory Drugs หรือ NSAIDs) มีฤทธิ์แก้ปวด ต้านการอักเสบ และลดไข้ ยากลุ่มนี้ เป็น “ยาอันตราย” ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกร
ตัวอย่างยาที่เห็นกันบ่อยๆ เช่น
- แอสไพริน (Aspirin)
- ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
- ไดโคลฟีแน็ก (Diclofenac)
- นาพร็อกเซน (Naproxen)
- เซเลค็อกสิบ (Celecoxib)
- ไพร็อกซิแคม (Piroxicam)
- เมล็อกซิแคม (Meloxicam)
- เอทอริค็อกสิบ (Etoricoxib)
เป็นต้น
ข้อควรระวังในการกินยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs
การกินยาในกลุ่มนี้แนะนำให้กินหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมากๆ เนื่องจากยามีผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร
กินยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs มากเกินไป ส่งผลต่อไต
หากใช้ยาในกลุ่มนี้มากเกินไป จะส่งผลให้การไหลเวียนเลือดภายในไตลดลง อาจทำให้เกิดภาวะไตเสียหายเฉียบพลันได้ และยาในกลุ่มนี้ยังทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย การใช้ยาในระยะยาวจึงนำไปสู่การเกิดโรคไตเรื้อรังได้
5 ข้อควรระวัง กินยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs อาจเกิดอันตรายต่อไต
การเกิดอันตรายต่อไตเมื่อกินยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ขึ้นอยู่กับ
- ขนาดยาและระยะเวลาที่ใช้ยา ไม่ควรใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ ควรใช้ยาในขนาดต่ำสุดที่ให้ผลในการรักษา และใช้เป็นเวลาสั้นที่สุดตามความจำเป็น
- ผู้สูงอายุและทารกแรกคลอดมีความเสี่ยงสูง
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคเบาหวาน โรคอ้วน
- ผู้ที่อยู่ในภาวะเสียเลือดมากหรือเสียน้ำมาก
- การใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิต
ดังนั้น การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือเภสัชกรเท่านั้น และหากมีโรคประจำตัวควรแจ้งให้เภสัชกรทราบก่อนซื้อยาทุกครั้ง ไม่อย่างนั้นอาจเกิดอันตรายได้