ระวัง! อุปกรณ์สักเพื่อความสวยงาม ไม่ใช่เครื่องมือแพทย์ เสี่ยงติดเชื้อหากไม่สะอาด
อย. แจง อุปกรณ์สักเพื่อความสวยงาม หรือเพื่อจารีตประเพณีทางศาสนา ไม่เข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์พ.ศ. 2551 ควรตระหนักถึงความปลอดภัยและความสะอาดของ อุปกรณ์ที่ใช้และหากเป็นการสักทางการแพทย์ สถานพยาบาลจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ สถานพยาบาลอย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการ
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และโฆษก อย. เปิดเผยว่า การสักเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นการสัก เพื่อแก้ไขความผิดปกติของผิวหนัง หรือโรคผิวหนังบางชนิด เช่น แผลเป็นจากอุบัติเหตุ ผ่าตัด ไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก ผมร่วง โรคด่างขาว (Vitiligo) การสักเพื่อสร้าง ขอบปากหลังผ่าตัดปากแหว่ง หรือการทำหัวนมและลานหัวนมเทียมภายหลังการผ่าตัดเต้านม ซึ่งอุปกรณ์ ที่นำมาใช้สักเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิตมุ่งหมายเฉพาะสำหรับใช้ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือเพื่อบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรคของมนุษย์
“ดังนั้น จึงจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งผู้นำเข้าต้องจดทะเบียนสถานประกอบการนำเข้า เครื่องมือแพทย์ตามมาตรา 15 และปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 34) พ.ศ. 2549 เรื่อง กำหนดเครื่องมือแพทย์ที่ห้ามนำเข้าหรือขาย การเลือกใช้บริการที่เกี่ยวกับการสักทางการแพทย์ สถานที่ดังกล่าวต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล รวมถึงมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการรักษา” ภก.ประพนธ์ กล่าว
รองเลขาธิการ อย. กล่าวอีกว่า ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้สักเพื่อความสวยงามหรือเพื่อจารีตประเพณีทางศาสนา ไม่เข้าข่ายเป็นเครื่องมือแพทย์ เนื่องจากการสักเพื่อความสวยงามหรือจารีตประเพณีทางศาสนา ไม่ถือเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือเพื่อการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรคของมนุษย์ การเลือกใช้บริการที่เกี่ยวกับการสักเพื่อความสวยงาม หรือเพื่อจารีตประเพณีทางศาสนานั้น ผู้บริโภคควรตระหนักในเรื่องสถานที่ต้องมีความสะอาด อยู่ในสถานที่ที่เปิดเผยและมีสถานที่ตั้งเป็นหลักเป็นแหล่งแน่นอน อุปกรณ์ที่ใช้ในการสัก อาทิ เครื่องสัก เข็มสำหรับสัก ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากเชื้อหรือมีการล้างทำความสะอาด ฆ่าเชื้ออุปกรณ์ก่อนนำมาสัก สีที่ใช้ในการสักควรแยกหลอดสีในลูกค้าแต่ละราย ไม่ควรใช้ร่วมกัน เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ผู้ที่ทำการสักจะต้องได้รับการอบรมเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการสัก ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวัง และต้องมีความรู้และสามารถสื่อสารให้ผู้รับการสักทราบถึงการปฏิบัติตน การดูแลรักษาแผลภายหลังการสัก ส่วนผู้ที่รับการสัก ควรศึกษาถึงผลเสียและอาการข้างเคียงจากการสักและการลบรอยสัก เช่น แผลเป็น อาการบวม คัน อาการแพ้สีที่ใช้ในการสัก เนื่องจากปฏิกิริยาการตอบสนองต่อสีที่ใช้ในการสักในแต่ละคนไม่เหมือนกัน อาการแทรกซ้อน การติดเชื้อเอชไอวี และไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น รวมถึงต้องมีอายุที่เหมาะสม ทั้งนี้ ผู้ที่คิดจะสักควรพิจารณาให้รอบคอบ เพราะหากต้องการลบรอยสักจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และไม่สามารถลบรอยสักออกได้หมด
ภาพประกอบจาก gettyimages