7 พฤติกรรมกระตุ้นอาการ “สะเก็ดเงิน”

7 พฤติกรรมกระตุ้นอาการ “สะเก็ดเงิน”

7 พฤติกรรมกระตุ้นอาการ “สะเก็ดเงิน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบันในประเทศไทยผู้ป่วยโรคสะเก็ด 1 ล้านคน หรือ 2 ใน 100 คน และหลายคนยังไม่ทราบว่าโรคสะเก็ดเงิน ยังไม่มีสาเหตุของโรคที่ระบุได้อย่างแน่ชัด เชื่อว่าเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือพันธุกรรม และการติดเชื้อบางอย่างที่ไปกระตุ้นให้การทำงานของผิวหนังผิดปกติ

ทางการแพทย์ หากจำแนกตามประเภทของโรคแล้ว จะพบว่า ‘โรคสะเก็ดเงิน’ มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ซึ่งมีชนิดที่พบได้บ่อย ดังนี้

  • โรคสะเก็ดเงินชนิดที่เป็นผื่น หรือเป็นปื้นหนา โดยจะเป็นชนิดที่สามารถพบได้มากที่สุดประมาณ 80% ซึ่งบริเวณที่เกิดสะเก็ดเงินชนิดนี้นั้น บริเวณผิวหนังจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงหนาคลุมด้วยสีเงิน ส่วนใหญ่จะเกิดที่บริเวณผิวของข้อศอก หัวเข้า และหนังศีรษะ
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดที่เป็นผื่นขนาดเล็ก โดยชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นกับเด็กและวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ พบได้ประมาณ 10% ของโรคสะเก็ดเงินที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ลักษณะของการเกิดคือจะเป็นจุดสีชมพูขนาดเล็ก และอาจกลายเป็นผื่นหนาสีแดงได้คล้ายกับผื่นชนิดหนา บริเวณที่เกิดบ่อย คือ แขน ขา หรือตามลำตัว
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดที่มีตุ่มหนอง โดยเป็นชนิดที่เกิดขึ้นได้มากในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ ซึ่งบริเวณที่เกิดนั้นจะมีตุ่มหนองสีขาวกระจายเป็นวงกว้าง อีกทั้งยังเกิดการอักเสบจนแดง พบได้มากตามบริเวณแขน ขา และยังอาจกระจายไปจนทั่วลำตัวได้ ในบางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ มีไข้ขึ้น รู้สึกคันตามผิวหนัง หรือไม่อยากอาหาร เป็นต้น
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดที่เกิดขึ้นตามข้อพับ ลักษณะการเกิด คือ บริเวณผิวหนังจะเป็นผื่นแดง มีความเรียบและเงา ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตามบริเวณข้อพับและซอกต่างๆ ตามร่างกาย อาทิ หน้าอก รักแร้ ขาหนีบ หรือโดยรอบอวัยเพศ
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดที่เป็นผื่นแดงลอกทั่วตัว ซึ่งจะเป็นชนิดที่รุนแรงมากและพบได้น้อย พบได้ประมาณ 3% เท่านั้น ลักษณะการเกิดของสะเก็ดเงินชนิดนี้ คือ จะเกิดผื่นแดงขนาดใหญ่และลอกอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันและเจ็บ

โรคสะเก็ดเงิน เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

สาเหตุของการเกิด โรคสะเก็ดเงิน นั้นก็ยังคงไม่ทราบได้อย่างแน่ชัด แต่จากคาดการณ์แล้วพบว่าปัจจัยที่มีส่วนให้โรคสะเก็ดเงินเกิดการพัฒนาอาจมาจากเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติ เซลล์เม็ดเลือดขาวจึงเข้าไปทำลายเซลล์ผิวหนังแทนที่จะทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย และอีกปัจจัยหนึ่ง อาจมาจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ของคนที่อยู่ในครอบครัวที่เคยมีประวัติว่าเป็นโรคสะเก็ดเงิน หรือโรคผิวหนังอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายนอกที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิด โรคสะเก็ดเงิน ได้ อาทิ การติดเชื้อ HIV , การได้รับบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง , การใช้ยารักษาโรคหัวใจและความดันสูง หรืออยู่ในภาวะเครียด ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมานั้นก็จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

ระดับความรุนแรงของ ‘โรคสะเก็ดเงิน’

สำหรับ โรคสะเก็ดเงิน สามารถแบ่งความรุนแรงออกได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้

  • Mild Psoriasis : เป็นโรคสะเก็ดเงินที่มีผื่นขึ้นน้อยกว่า 2% มักจะพบเห็นได้เป็นแห่ง เช่น หนังศีรษะ ข้อศอก รักษาได้ด้วยการทายา
  • Moderate Psoriasis : เป็นโรคสะเก็ดเงินที่มีผื่นขึ้นระหว่าง 2 - 10% ส่วนใหญ่มักจะขึ้นให้เห็นที่บริเวณหนังศรีษะ แขน ขา ลำตัว รักษาได้ด้วยการทายาและรับประทานยา
  • Severe Psoriasis : เป็นโรคสะเก็ดเงินที่มีผื่นขึ้นมากกว่า 10% อาจทำให้ผิวหนังแดง มีตุ่มหนอง ผิวหนังหลุดลอก อีกทั้งผู้ป่วยมักจะมีอาการข้อสอบอักเสบร่วมด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ในผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินอาจมีอาการแทรกซ้อนได้ อาทิ อาจมีการอักเสบของข้อ หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบเมตาบอลิซึม เช่น โรคความดันโลหิตสูง , ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดโรคเบาหวานตามมา หรือเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้

อาการของโรค “สะเก็ดเงิน”

ผิวหนังคัน เป็นผื่น ปื้น นูน สีเทาๆ เงินๆ ผิวหนังแห้งเป็นสะเก็ด ซึ่งอาจหลุดเป็นแผ่นเล็กๆ เหมือนรังแคได้ แต่ก็มีอาการอักเสบของผิวหนัง หากคัน และเกามาก อาจทำให้เป็นแผล และมีอาการแสบได้

สะเก็ดเงิน โรคผิวหนัง แต่ไม่ติดต่อ?

ถึงแม้โรคผิวหนังส่วนใหญ่จะเป็นโรคติดต่อ เช่น โรคกลาก เกลื้อน หรือเรื้อน แต่สำหรับโรคสะเก็ดเงิน ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นความผิดปกติของเซลล์ผิวหนังเฉพาะบุคคล ผู้ป่วยจึงสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นรอบข้างได้อย่างไม่มีปัญหา

แต่หากเราทราบพฤติกรรมที่ไปกระตุ้นอาการของโรคสะเก็ดเงิน เราก็ควรจะหลีบเลี่ยง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เป็นโรคตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้น Sanook! Health แนะนำพฤติกรรมกระตุ้นอาการ “สะเก็ดเงิน” เพื่อให้ทุกคนหลีกเลี่ยงกันดีกว่า

  1. ดื่มแอลกอฮอล์

  2. สูบบุหรี่

  3. เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ

  4. ผิวแห้งมาก และไม่บำรุงผิวให้มีความชุ่มชื้น

  5. อ้วน น้ำหนักเกิน ไม่ออกกำลังกาย

  6. ทานอาหารที่มีกรดยูริก ไขมันสูง และทานเนื้อแดง

  7. มีอาการผิดปกติทางผิวหนัง แล้วไม่ยอมไปพบแพทย์ กลับใช้ยาอื่นๆ ทา ซึ่งนอกจากไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น อาจยิ่งทำให้อาการแย่ลงอีกด้วย

โรคสะเก็ดเงิน ป้องกันได้หรือไม่ ?

เนื่องจากการเกิดโรคสะเก็ดเงิน ทางการแพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ จึงยังไม่มีวิธีป้องกัน เว้นแต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคนี้ได้ง่าย อีกทั้งต้องดูแลรักษาสุขอนามัยพื้นฐานอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการลดโอกาสในการติดเชื้อ

โรคสะเก็ดเงิน รักษาหายหรือไม่ ?

อย่างที่รู้กันดีว่า โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่ไม่มีความรุนแรง ไม่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แต่เป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ อยู่ตลอดชีวิต ถึงแม้จะมีการรักษาอย่างถูกต้องแล้วก็ตาม อีกทั้งการเกิดโรคสะเก็ดเงินยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้ออักเสบเรื้อรัง , โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคมะเร็งผิวหนัง นอกจากนั้น เมื่อเป็นโรคนี้ก็ยังทำให้ผู้ป่วยเกิดความไม่มั่นใจในภาพลักษณ์ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในบางคนได้

โรคสะเก็ดเงินไม่ได้น่ากลัว หรือน่ารังเกียจอย่างที่ทุกๆ คนคิด ถึงแม้จะรักษาไม่หายขาด 100% แต่หากพบแพทย์เพื่อทานยา ทายา ฉีดยา หรือฉายแสงตามแต่ที่แพทย์แนะนำ ผู้ป่วยก็สามารถดูแล และควบคุมอาการของโรคไม่ให้กำเริบได้ และคนรอบข้างก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ป่วยตามปกติได้

แนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงิน

โดยปกติแล้วการรักษาโรคสะเก็ดเงินนั้นจะขึ้นอยู่ที่ระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งแบ่งออกได้เป็นดังต่อไปนี้

  • โรคสะเก็ดเงินความรุนแรงน้อย : มีผื่นขึ้นน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย มีขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือ หรือเท่ากับพื้นที่ประมาณ 1% ให้การรักษาด้วยการทายาในเบื้องต้น
  • โรคสะเก็ดเงินความรุนแรงมาก : มีผื่นขึ้นมากกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการให้ยารับประทาน หรือเข้ารับการฉายแสงอาทิตย์เทียม หรืออาจใช้ร่วมกันระหว่างยาและการฉายแสง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook