“ถั่งเช่า” สมุนไพรรักษาโรค เหมาะ-ไม่เหมาะกับใครบ้าง
-
ถั่งเช่า ถูกนำมาใช้ในแพทย์ทางเลือกและศาสตร์แพทย์แผนจีนมาอย่างยาวนาน โดยนิยมใช้ในผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ โรคปอด โรคไต โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โรคมะเร็งและโรคเบาหวาน
-
มีงานวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณของถั่งเช่าด้านการดูแลสุขภาพมากมาย เช่น การวิจัยในโรคมะเร็ง เบาหวาน โรคไต ภูมิต้านทานร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทดลองในหนูและหลอดทดลอง ดังนั้นควรศึกษารายละเอียด ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ในการรับประทานถั่งเช่าเพื่อรักษาโรคหรือดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วย
-
ถังเช่ามีข้อจำกัดในการรับประทานในคนบางกลุ่ม เช่น ผู้ที่แพ้หนอนหรือเห็ด ผู้ป่วยที่เป็นโรคบางโรค ผู้ป่วยที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ ควรศึกษารายละเอียดก่อนรับประทาน
ในปัจจุบันมีโฆษณาให้เห็นมากมายเกี่ยวกับ "ถั่งเช่า" ที่เป็นสมุนไพรมาจากประเทศจีน ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องสรรพคุณการรักษาโรค และบำรุงร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบแคปซูล หรือ เครื่องดื่ม ทำให้คนให้ความสนใจกับสมุนไพร "ถั่งเช่า" มากขึ้น แต่ก็ยังเป็นข้อสงสัยเช่นกันว่า ถั่งเช่าเป็นสมุนไพรที่ดีต่อสุขภาพจริงหรือ? ทำไมถึงแพง? แล้วช่วยรักษาอะไรบ้าง?
ถั่งเช่าคืออะไร?
พจ.ลิขิตา ทองแย้ม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า ถั่งเช่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Ophiocordyceps sinensis (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, 2563) สมุนไพรถั่งเช่า หรือที่เรียกกันว่า ตงถงเซี่ยเฉ่า เป็นเครื่องยาจีนที่มาจากเห็ดรา มักใช้เป็นยาบำรุง สารสำคัญมีฤทธิ์บำรุงปอด และบำรุงไต ซึ่งทำให้สมุนไพรถั่งเช่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีราคาสูง
ถั่งเช่าเป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ในหนอนผีเสื้อกลางคืนที่จำศีลในฤดูหนาว (Hepialus armoricanus Oberthiir)ในพื้นที่ภูเขาสูงของจีน แต่เนื่องจากถั่งเช่าธรรมชาติหายากและมีราคาแพง ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่จะทำจากถั่งเช่าที่ปลูกในห้องปฏิบัติการ สมุนไพรถั่งเช่าประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นตัวหนอนของผีเสื้อ และส่วนที่เป็นเห็ดบนตัวหนอนมีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Cordyceps และสายพันธุ์ ถั่งเช่าที่ชื่อ Cordyceps Sinensis ซึ่งมาจากทิเบต ถูกจัดเป็นสมุนไพรหายาก มีราคาสูง และมีสรรพคุณสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ
แต่เดิมถั่งเช่าถูกนำมาใช้ ทางการแพทย์เก่าแก่ของจีนและยาทิเบตทั้งเป็นยาเดี่ยวและยาผสมร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ แพทย์แผนโบราณส่วนใหญ่ใช้ถั่งเช่าในการรักษาโรคถึง 21 ชนิด แต่ในการศึกษาสมัยใหม่ยังคงต้องได้รับและทบทวนการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปถึงสรรพคุณที่สามารถพิสูจน์ทางการแพทย์ได้
องค์ประกอบทางเคมีของถั่งเช่า
ถั่งเช่า ประกอบด้วยสารต่างๆ ได้แก่ สารกลุ่มโพลีแซคคาไรด์ เช่น Galactomannan สารนิวคลีโอไทด์ เช่น Adenosine กรด Cordycepic acid กรดอะมิโน สารกลุ่มสเตอรอล เช่น Ergosterol หรือ Beta - sitosterol โปรตีน ไขมัน วิตามินบี 12 และแร่ธาตุมากมาย
งานวิจัยเกี่ยวกับถั่งเช่าเพื่อการดูแลสุขภาพ
งานวิจัยในโรคมะเร็ง
มีงานวิจัยว่า ถั่งเช่า สามารถลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและเซลล์เนื้องอกหลายชนิดในสัตว์ทดลอง ซึ่งน่าจะมีผลมาจากการยับยั้งเอนไซม์เทโลเมอร์เรสในเซลล์มะเร็ง และฤทธิ์การต่อต้านอนุมูลอิสระที่เกิดในร่างกาย ซึ่งการแพทย์ทางเลือก มีการนำมาใช้ในผู้ป่วยมะเร็งที่หมดทางรักษา แต่การศึกษายืนยันในคนที่ถูกตีพิมพ์ลงวารสารทางการแพทย์ยังมีไม่มากนัก
งานวิจัยในเรื่องภูมิต้านทานร่างกาย
มีงานวิจัยในหนูและในหลอดทดลอง แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของถั่งเช่า ในการเพิ่มภูมิต้านทานร่างกาย และยับยั้งภูมิต้านทานที่มากเกินไปภาวะภูมิแพ้ตัวเอง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเซลล์ลำไส้เล็กในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งการแพทย์ทางเลือกได้มีการนำมาใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิต้านทานผิดปกติ ผู้ป่วยโรคปอด เช่น ไอ หอบเรื้อรัง ไอเรื้อรังมีเสมหะปนเลือด แต่การศึกษายืนยันในคนที่ถูกตีพิมพ์ลงวารสารทางการแพทย์ยังมีไม่มาก
งานวิจัยในผู้ป่วยโรคไต
มีงานวิจัยที่ระบุว่า ถั่งเช่าส่งผลดีต่อสุขภาพไตแบบองค์รวม โดยใช้ได้ผลดีกับผู้ที่มีอาการหนาวง่าย มือเท้าเย็น ปัสสาวะบ่อย และโรคไตเรื้อรัง ซึ่งควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
งานวิจัยในผู้ป่วยเบาหวาน
มีงานวิจัยในหนูที่เป็นเบาหวาน พบว่าสารสกัดถั่งเช่า ช่วยให้หนูสุขภาพดีขึ้น จากการที่อินซูลินทำงานได้ดีขึ้น แต่การศึกษายืนยันในคน ที่ถูกตีพิมพ์ลงวารสารทางการแพทย์ยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป
งานวิจัยในผู้ที่มีปัญหาทางเพศ
มีงานวิจัยในหนู พบว่าสารสกัดจากถั่งเช่าช่วยเพิ่มจำนวนอสุจิและฮอร์โมนเพศชายได้ จึงน่าจะมีประโยชน์ในผู้ที่มีปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย นอกจากนั้นยังพบการวิจัยในผู้ชาย 22 คน ใช้ถั่งเช่าเป็นอาหารเสริม พบว่าช่วยเพิ่มจำนวนของสเปิร์มในอสุจิได้ 33% อีกกรณีศึกษาในผู้ป่วยทั้งชายและหญิง 189 คน พบว่าถั่งเช่าสามารถช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศสูงขึ้น 66-86 % ในผู้ชายและผู้หญิง แต่งานวิจัยยังมีไม่มากพอ การใช้ถั่งเช่าเพื่อรักษาอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
รูปแบบของถั่งเช่าที่วางขาย
ในประเทศไทย พบผลิตภัณฑ์ถั่งเช่า 2 สายพันธุ์ คือ ถั่งเช่าทิเบต (Cordyceps sinensis) ซึ่งมีสารสำคัญหลัก คือ สาร Adenosine ยังไม่พบรายงานของอาการไม่พึงประสงค์ และถั่งเช่าสีทอง (Cordyceps militaris) ซึ่งผลิตสารสำคัญหลัก คือ สาร Cordycepin (Cunningham et al., 1950) ซึ่งสารนี้จะยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง รวมถึงมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ
ผลข้างเคียงจากการรับประทานถั่งเช่า
เมื่อรับประทานอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ท้องเสีย และรู้สึกไม่สบายท้อง ส่วนระยะยาวยังไม่พบรายงานที่รุนแรง หากร่างกายได้รับถั่งเช่ามากเกินไป อาจพบอาการ คอแห้ง กระหายน้ำ ริมฝีปากแห้ง ปวดท้องคล้ายอาการจุกเสียด ปวดหัวตุบๆ ตาพร่ามัว หากพบอาการเหล่านี้ให้นอนพัก ดื่มน้ำมากๆ และลดปริมาณการทานลง หรือหยุดทานจนกว่าอาการจะดีขึ้น
บุคคลใดที่ไม่ควรรับประทานถั่งเช่า
- ผู้ป่วยเบาหวานควรระวัง เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ จะไปเสริมฤทธิ์กับยาลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานและอาจจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป
- ถังเช่ามีฤทธิ์ในการลดการจับตัวกันของเกล็ดเลือด จึงไปเสริมฤทธิ์กับยาลดการจับตัวของเกล็ดเลือดดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับยาลดการจับตัวกันของเกล็ดเลือด หรือกำลังจะผ่าตัด อาจจะทำให้เลือดหยุดไหลช้าได้
- บุคคลที่แพ้เห็ด หนอน
- ผู้ป่วยที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- ผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ
- เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตร