4 โรคอันตรายจาก “ควันพิษ” ที่มาจากการเผาไหม้ของ “สารเคมี”
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากสารเคมีที่ทำให้เกิดควันพิษ หากสูดดมเข้าไป อาจเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงหากได้รับควันพิษเข้าสู่ร่างกาย อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าปกติ พร้อมแนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสหรือสูดดมควันพิษเข้าไป และขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด
ควันพิษจากเพลิงไหม้สารเคมี อันตรายต่อสุขภาพ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สารเคมีที่ทำให้เกิดควันพิษจากไฟไหม้โรงงานผลิตพลาสติก คือ สารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ เป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นของเหลว ใส ไม่มีสี แต่มีกลิ่นเฉพาะตัว สามารถกลายเป็นไอระเหยและลุกติดไฟได้ และพิษจากสารเคมีอื่นๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้สไตรีน ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ควันดำหรือฝุ่น PM10 และ PM2.5
ถ้าสูดดมเข้าไป จะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และมึนเมา หากได้รับสารพิษปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการหมดสติและเสียชีวิตได้ หรือถ้าสัมผัสถูกผิวหนัง จะรู้สึกระคายเคืองผิว ทำให้ผิวแดง แห้ง และแตก ซึ่งสารสไตรีนโมโนเมอร์ยังเป็นสารที่อาจก่อให้เป็นมะเร็งได้
นอกจากนี้ ผลกระทบจากควันพิษดังกล่าว หากประชาชนอยู่ในรัศมี 5 กม. ให้อพยพด่วนที่สุด 7 กม. ให้เฝ้าระวังสูงสุด และ 10 กม. ให้เฝ้าระวัง
4 โรคอันตรายจากควันพิษ ที่มาจากการเผาไหม้ของสารเคมี
ควันพิษอาจส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงป่วยจาก 4 กลุ่มโรค ดังนี้
- กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว
- กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล แสบจมูกและลำคอ
- กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น อาการคันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย
- กลุ่มโรคตาอักเสบ เช่น อาการแสบหรือคันตา ตาแดง น้ำตาไหล และมองภาพไม่ค่อยชัด
กรมการแพทย์ โดยศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชานี ระบุว่า ข้อมูลทั่วไปด้านพิษวิทยาและสิ่งแวดล้อมพบว่าวัตถุดิบประเภทโฟม EPS หรือ Expandable Polystyrene เมื่อถูกไฟไหม้จะเกิดมลพิษจากสารสไตรีน (styrene) ผู้ที่สัมผัสสารพิษดังกล่าว จะมีอาการที่สามารถสังเกตได้ 2 ลักษณะ คืออาการเฉียบพลัน และอาการเรื้อรัง ดังนี้
- อาการเฉียบพลัน จะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ปวดศีรษะ ง่วงซึม อ่อนเพลีย ปวดท้อง เบื่ออาหาร ระคายเคืองผิวหนัง ดวงตา และ ระบบทางเดินหายใจ การสูดเข้าไปจะมีอาการไอ และหายใจลำบาก ชัก หัวใจเต้นแรง และอาจเสียชีวิตได้
- อาการเรื้อรัง การได้รับสารสไตรีน (Styrene) เป็นเวลานาน จะ มีอันตรายต่อตับไต ระบบเลือด ในขณะที่เบนซิน (Benzene) จัดเป็นพิษสารก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมีผลทำให้เป็นโรคโลหิตจาง
นอกจากนี้ ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้หรือสลายตัวเนื่องจากความร้อนของสไตรีน จะส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน และเกิดอันตรายต่อร่างกาย
กลุ่มเสี่ยงอันตรายจากควันพิษที่เกิดจากสารเคมี
ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่
- กลุ่มเด็กเล็ก
- ผู้สูงอายุ
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบหืด ภูมิแพ้ เป็นต้น
หากได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป
วิธีดูแลตัวเองเมื่ออยู่ในแหล่งใกล้ควันพิษจากสารเคมี
ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีมลพิษในอากาศสูงโดยมีค่าสารพิษเกินกว่าปกติหลายเท่า ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพของเป็นอย่างมาก หากยังอยู่ในบริเวณที่มีการระบุค่ามลพิษทางอากาศสูง ควรปฏิบัติดังนี้
- ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ถ้าอากาศร้อนให้ใช้เครื่องปรับอากาศหรือพัดลมเพื่อบรรเทา พร้อมด้วยเครื่องฟอกอากาศ (ถ้ามี) อย่าเปิดประตูหรือหน้าต่าง
- งดกิจกรรมภายนอกอาคาร สถานที่ หรือหากจำเป็นควรใส่หน้ากากชนิดมีไส้กรองหรืออย่างน้อยใช้หน้ากาก N 95 ใส่หน้ากากว่ายน้ำ เฟสชิลด์ หรือแว่นตาเพื่อป้องกันอาการระคายเคืองตา สวมหมวก ถุงมือ ปลอกแขน หรือชุดที่สามารถปกป้องผิวหนังได้ พร้อมลดเวลาการทำกิจกรรมนอกสถานที่ให้ได้มากที่สุด
- ถ้ามีโรคประจำตัว หรือมีใครในครอบครัวมีโรคประจำตัวให้แจ้งให้แพทย์ทราบด้วย โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคปอด โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
- ถ้ามีอาการแสบตา แสบคอ แสบจมูกมาก หรือ ไอ หอบ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ให้รีบไปพบแพทย์
- ห้ามสูบบุหรี่เด็ดขาด
- สืบเสาะหาเส้นทาง และพาหนะที่ใกล้ที่สุดที่จะไปหาความช่วยเหลือได้
- มีเบอร์โทรศัพท์หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน
- ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
- หลังเหตุการณ์ให้มารับการตรวจสุขภาพ และติดตามการตรวจสุขภาพเป็นระยะตามที่แพทย์สั่ง
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อสัมผัสควันพิษ
สำหรับหลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสกับควันพิษ ดังนี้
- หากโดนผิวหนัง ให้ล้างบริเวณที่ถูกสารเคมีโดยใช้น้ำสะอาดล้างให้มากที่สุดเพื่อให้เจือจาง ถ้าสารเคมีถูกเสื้อผ้าให้ถอดเสื้อผ้าออกก่อน
- หากเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที โดยเปิดเปลือกตาขึ้นให้ไหลผ่านตาอย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
- หากการสูดดมควันพิษเข้าไป ให้ย้ายผู้ป่วยไปที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์หรือมีอากาศถ่ายเท และทำการประเมินการหายใจ หรือการเต้นของหัวใจ
- ถ้าชีพจรอ่อนให้ทำการปั้มหัวใจช่วยชีวิต หรือ CPR และแจ้งไปที่เบอร์สายด่วนศูนย์แพทย์ฉุกเฉิน โทร. 1669
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากควันพิษสวมใส่หน้ากากที่มีไส้กรองทำด้วยชาร์โคลเป็นวัสดุดูดซับ (CHACOAL MASK) และติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อมอยู่เสมอหากมีการประกาศอพยพเพิ่มเติม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค โทร 02 590 3866