จัดฟันแล้วหน้าเปลี่ยน จริงหรือ?

จัดฟันแล้วหน้าเปลี่ยน จริงหรือ?

จัดฟันแล้วหน้าเปลี่ยน จริงหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้เขียน พ.ญ.พิณนภางค์ ศรีพหล email:doctorpin111@gmail.com
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านเคยอ่านหรือดูข่าวสัมภาษณ์ดาราไหมคะ ที่เวลานักข่าวถามว่า “ทำไมหน้าตาดาราคนนั้น ๆถึงเปลี่ยนไป ไปศัลยกรรมมารึเปล่าคะ”

หนึ่งในคำตอบยอดฮิตของดาราก็คือ “เปล่าค่ะ ไปจัดฟันมา หน้าเลยเปลี่ยน”

บางครั้งคุณผู้ชมทางบ้านอย่างพวกเราก็ได้แต่กลอกตาเป็นเลขแปด แล้วก็คิดในใจว่า “หราาา” แต่ช่วงนี้ ทางเฟซบุ๊กมีโปรแกรมขุดคุ้ยภาพเก่า ๆ พอมาดูรูปเก่า ๆ ของเพื่อนสนิทที่จัดฟัน ที่มั่นใจว่านางไม่ได้ไปทำศัลยกรรมแน่ ๆ ก็พบว่า 5 ปีผ่านไป หน้านางเปลี่ยนจริง (แต่ไม่ถึงขั้นเฟซออฟนะคะ) ถึงกับเอามือทาบอกพร้อมกับคิดว่า “หรือเราจะไปจัดฟันบ้างดีนะ”

วันนี้เราเลยจะมาคุยกันเรื่อง “การจัดฟัน”กันนะคะ กับผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดฟันคุณหมอตอง ทพญ.อธิชาต์ ตันวีระชัยสกุล

 

P: จัดฟัน แล้วหน้าเปลี่ยน จริงหรือคะ

T: การจัดฟันไม่ได้ช่วยให้โครงหน้าเปลี่ยนไปค่ะ แต่การที่คนไข้ส่วนใหญ่จะมีรูปหน้าเปลี่ยนไปหลังจากจัดฟัน มีได้หลายสาเหตุ นั่นก็คือช่วงจัดฟันทำให้เราเคี้ยวอาหารได้น้อยลงกว่าเดิม ทำให้กล้ามเนื้อบดเคี้ยว (ที่อยู่ข้างแก้ม) เล็กฟีบลง เลยทำให้หน้าดูตอบลงค่ะ แต่พอจัดฟันเสร็จแล้วกลับมาเคี้ยวได้ตามปกติ หน้าก็กลับมาเหมือนเดิมนะคะช่วงจัดฟันใหม่ ๆ จะยังไม่ชิน ทำให้เคี้ยวอาหารลำบาก ก็อาจมีส่วนให้ผอมลงได้ค่ะคนไข้เริ่มจัดฟันในช่วงที่ยังมีการเจริญเติบโตอยู่ เมื่อจัดฟันเสร็จ รูปหน้าก็เปลี่ยนไปตามการเจริญเติบโตค่ะ

 

P: สรุปว่า ถ้ากลับมาเคี้ยวคล่อง และโครงหน้าหยุดการเจริญเติบโตแล้ว หน้าก็จะเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือฟันสวยเป็นระเบียบใช่ไหมคะ แล้วจมูก คาง และอวัยวะอื่น ๆ จะดูเปลี่ยนไปได้ด้วยเหรอคะ

T: ภายหลังจัดฟันเสร็จ ฟันที่เคยยื่น ๆ อยู่ยุบลงไป เลยทำให้จมูกและคางดูชัดขึ้นทั้ง ๆ ที่อยู่ตำแหน่งเดิม สรุปคือการจัดฟันไม่ได้ทำให้จมูกโด่งขึ้น คางแหลมขึ้น (หรือหน้าอกใหญ่ขึ้น) แต่อย่างใดค่ะ

 

P: แล้วหนูจะจัดฟันดีไหมคะ (หนูในที่นี้หมายถึงคุณผู้อ่านนะคะ หมอถามเผื่อ ๆ)

T: ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการรักษา คือ การใช้งาน ความสวยงาม และความคงทนของการรักษาถ้าหนูยังเด็ก (มีฟันน้ำนมอยู่) จะทำเพื่อป้องกันไม่ให้ความผิดปกติเป็นมากขึ้น เช่น ฟันล่างคร่อมฟันบน ช่องว่างในขากรรไกรไม่พอให้ฟันแท้ขึ้น ฟันกรามแท้ซี่แรกขึ้นไม่ได้ โดยส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้

ถ้าหนูโตแล้ว (มีฟันแท้ขึ้นครบ) จะเริ่มจัดฟันแบบติดแน่นได้ โดยจะแก้ไขได้หลายรูปแบบ เช่น ฟันซ้อนเก ฟันยื่นเหยิน มีช่องห่าง ฟันล่างคร่อมฟันบน ฟันฝังคุดขึ้นไม่ได้ในบางกรณี การสบฟันผิดปกติ การสบฟันลึก ฯลฯ

สิ่งหนึ่งที่ต้องเตือนคือหนูต้องให้ความร่วมมือในการรักษา ทันตแพทย์อาจให้หนูช่วยเกี่ยวยาง เคี้ยวอาหารอ่อนในช่วงรักษา หากไม่ปฏิบัติตามก็จะทำให้การรักษาช้าลงได้ค่ะ หลังจัดฟันคนไข้ทุกคนต้องใส่เครื่องมือคงสภาพฟันหรือรีเทนเนอร์ ซึ่งช่วงแรกอาจใส่ตลอดเวลาแล้วค่อย ๆ ลดเหลือกลางคืน แล้วอาจต้องใส่ไปตลอด (ชีวิต) หากคิดว่าไม่สามารถทำได้ การรักษาก็อาจเสียเปล่า

ทั้งนี้ ทางที่ดีสุดคือไปปรึกษาทันตแพทย์ผู้ทำการรักษา เพราะแต่ละคนแต่ละเคสมีความแตกต่างกันค่ะ สัปดาห์นี้คงพอได้ความรู้เอาไปจับผิดดารา…ไม่ใช่ค่ะ ความรู้ในการจัดฟัน ว่าเราจะจัดดีไหม พร้อมที่จะทำตามที่คุณหมอแนะนำให้เราทำอย่างเคร่งครัดรึเปล่า

 

แต่ทางที่ดีควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อตรวจและประเมินก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ

 

ขอบพระคุณ คุณหมอตอง ทพญ.อธิชาต์ตันวีระชัยสกุล ทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟัน
ภาพประกอบจาก istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook