สาเหตุ “ภาวะครรภ์เสี่ยงสูง” ที่คุณแม่ทุกคนควรระวัง

สาเหตุ “ภาวะครรภ์เสี่ยงสูง” ที่คุณแม่ทุกคนควรระวัง

สาเหตุ “ภาวะครรภ์เสี่ยงสูง” ที่คุณแม่ทุกคนควรระวัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การตั้งครรภ์ที่มี ภาวะครรภ์เสี่ยงสูง (High-Risk Pregnancy) คือ ภาวะใดๆ ก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเสียชีวิตได้ ทั้งในระหว่างตั้งครรภ์ ขณะคลอด หรือหลังคลอด จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด 

นายแพทย์ธิติพันธุ์ น่วมศิริ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM) โรงพยาบาลนวเวช ได้ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อให้ตระหนักถึงอันตรายและป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดภาวะครรภ์เสี่ยงสูง ดังนี้

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะครรภ์เสี่ยงสูง

  • ประวัติการตั้งครรภ์ครั้งก่อนมีปัญหา เช่น ครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด คลอดทารกตัวเล็กหรือใหญ่ ผิดปกติ มีภาวะแท้งบ่อยๆ
  • ทารกพิการหรือเสียชีวิตในครรภ์
  • มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน
  • ครรภ์แฝด
  • หญิงตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
  • หญิงตั้งครรภ์สูงน้อยกว่า 140 ซม.
  • หญิงตั้งครรภ์น้ำหนักเกินปกติ
  • มีโรคประจำตัว เช่น SLE ต่อมไทรอยด์ โลหิตจาง โรคหัวใจ โรคติดเชื้อ เป็นต้น
  • มีเนื้องอกที่มดลูกหรือรังไข่ เลือดออกทางช่องคลอด หรือเคยผ่าตัดทางสูตินรีเวช
  • หมู่เลือด Rh negative
  • ใช้สารเสพติด ติดสุรา สูบบุหรี่

อันตรายจากภาวะครรภ์เสี่ยงสูง 

  • โลหิตจาง เพลีย เหนื่อยง่าย
  • ทารกโตช้าในครรภ์ เด็กตัวเล็กพัฒนาการไม่สมบูรณ์
  • พันธุกรรมหรือโครโมโซมทารกผิดปกติ และมีความพิการแต่กำเนิด
  • เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
  • ความดันโลหิตสูง
  • ครรภ์เป็นพิษ
  • คลอดก่อนกำหนด

หากคุณแม่ตั้งครรภ์เข้าข่ายภาวะครรภ์เสี่ยงสูง ควรเริ่มฝากครรภ์โดยเร็วกับสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ เพื่อรับคำแนะนำ ปรึกษา และได้รับการดูแลอย่างครบถ้วน ปลอดภัยทั้งแม่และลูก นอกจากนี้ การตรวจวินิจฉัยก็นับว่ามีความสำคัญ ได้แก่

  • การตรวจสุขภาพ และคัดกรองความเสี่ยงคุณแม่ตั้งครรภ์  
  • การตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยการดื่มน้ำตาลกลูโคส (50-g Glucose Challenge Test) เพื่อเช็คระดับน้ำตาลในเลือดขณะตั้งครรภ์ 
  • เจ็บครรภ์และคลอดก่อนกำหนด ส่วนมากแล้วจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และมีโอกาสเกิดซ้ำในครรภ์ถัดไป แต่ปัจจุบันมีวิธีการทำนายการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดแต่รักษาได้ โดยปัจจัยเสี่ยงที่พบ ได้แก่ เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนด การติดเชื้อที่ปากมดลูก หรือในน้ำคร่ำ ครรภ์เป็นพิษ รกเกาะต่ำ หรือลอกตัวก่อนกำหนด ครรภ์แฝด เป็นต้น

สามารถวินิจฉัยด้วยการตรวจและรักษาได้ เช่น

o การตรวจอัลตราซาวด์ ประเมินความยาวปากมดลูก 

o การตรวจสาร Fetal Fibronectin จากช่องคลอด (สาร Fetal Fibronectin เป็นสารที่พบอยู่ระหว่างถุงน้ำคร่ำ กับเยื่อบุโพรงมดลูก เมื่อเกิดการหดรัดตัวของมดลูกจะทำให้มีสารชนิดนี้ออกมาอยู่ในช่องคลอด)

o การใส่ห่วงพยุงปากมดลูก (Arabin pessary)

o การเย็บปากมดลูก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด

  • การตรวจคัดกรองครรภ์เป็นพิษ โดยการประเมินจากการตรวจอัลตราซาวด์เส้นเลือดมดลูกขณะตั้งครรภ์ รวมถึงการเจาะเลือดเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับยา เพื่อป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษในช่วงเวลาที่เหมาะสม
  • การตรวจหาความผิดปกติและประเมินสุขภาพทารกในครรภ์

o การตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อตรวจประเมินและความผิดปกติของทารก เช่น ปากแหว่ง/เพดานโหว่ ความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด ภาวะหัวใจทารกเต้นผิดปกติ ความผิดปกติของสมอง ความผิดปกติของกระดูกแขนขา และความพิการแต่กำเนิดอื่น ๆ เป็นต้น ด้วยอัลตราซาวด์ 2 มิติ และ 4 มิติ

o วินิจฉัยโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือโรคบางชนิดได้ เช่น โรคดาวน์ซินโดรม โรคทารกติดเชื้อในครรภ์ โรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ด้วยการเจาะน้ำคร่ำ การตรวจชิ้นเนื้อรก และการเจาะเลือดจากสายสะดือทารก

o การรักษาภาวะแทรกซ้อนของทารกในครรภ์ (Fetal Therapy) คือการรักษาภาวะแทรกซ้อน และความผิดปกติของทารกในครรภ์มารดา ได้บางชนิด เช่น ภาวะหัวใจทารกเต้นผิดจังหวะ ภาวะทารกโลหิตจาง ทารกบวมน้ำ ภายใต้การดูแลรักษาจากสูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ MFM

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook