“กลั้นปัสสาวะ” อาจเสี่ยง “ติดเชื้อในกระเเสเลือด”

“กลั้นปัสสาวะ” อาจเสี่ยง “ติดเชื้อในกระเเสเลือด”

“กลั้นปัสสาวะ” อาจเสี่ยง “ติดเชื้อในกระเเสเลือด”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นอกจากโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่กำลังเฝ้าระวังกันอย่างยิ่งในปัจจุบัน ปัญหาการติดเชื้อในกระแสเลือด ก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิต โดยเกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย เพียงการกลั้นปัสสาวะ ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้

อาจารย์แพทย์หญิงรพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือด กล่าวว่า การติดเชื้อในกระแสเลือดจากการกลั้นปัสสาวะ ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิง เนื่องจากมีทางเดินปัสสาวะที่สั้นกว่าผู้ชาย จึงทำให้เชื้อจากภายนอกเข้าสู่ภายในร่างกายได้ง่ายกว่า ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานจนเกิดความผิดปกติ และไม่ได้เข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้

อาการผิดปกติจากการกลั้นปัสสาวะ

อาการที่มักพบในผู้ป่วยที่กลั้นปัสสาวะจนเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด จะเริ่มต้นจากการปวดปัสสาวะบ่อย มีความรู้สึกเหมือนอยากเข้าห้องน้ำอยู่ตลอดเวลา ปัสสาวะขุ่น หรือเปลี่ยนสี มีกลิ่นเหม็น นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดท้องน้อย และปวดลามมาถึงบริเวณหลัง มีไข้หนาวสั่น และอ่อนเพลีย

การรักษาอาการติดเชื้อในกระแสเลือดจากการกลั้นปัสสาวะ

สำหรับการรักษา ทางโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข โดยรับผู้ป่วยจากห้องฉุกเฉิน เพื่อคัดกรองดูภาวะการเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือด จากนั้นจะจัดให้ผู้ป่วยที่มีภาวะซึ่งสงสัยว่าอาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือดอยู่ในโซนสีแดง เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และให้ยาฆ่าเชื้อได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ เพื่อการส่งเสริมให้การรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่ผ่านมา สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการศึกษาวิจัยวิเคราะห์เชื้อในกระแสเลือด เพื่อดูผลของการให้ยาที่ถูกต้อง และเกิดประสิทธิผลมากที่สุด ซึ่งจะเป็นการรักษาที่ตรงจุดกว่าการให้ยาแบบครอบคลุมทุกโรค รวมทั้งยังมีการศึกษาวิจัยเพื่อยับยั้งสาเหตุที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เพื่อการเฝ้าระวังอย่างครบวงจรอีกด้วย

ในอนาคตคาดว่าจะมีการต่อยอดการศึกษาวิจัยเพื่อติดตามผลการรักษา โดยดูความรวดเร็วในการเพาะเชื้อ การแพ้ยา การดื้อยา รวมทั้งวิเคราะห์ด้วยว่า เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือดในแต่ละปี และในแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อแพทย์จะได้ให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมมากที่สุด

ทุกคนสามารถห่างไกลจากภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ด้วยการพยายามทำร่างกายตัวเองให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และที่สำคัญ หากสังเกตพบอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook