ใช้แท็บเล็ตนาน เสี่ยงอันตรายต่อสายตา

ใช้แท็บเล็ตนาน เสี่ยงอันตรายต่อสายตา

ใช้แท็บเล็ตนาน เสี่ยงอันตรายต่อสายตา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย เผยถึงกรณีนักศึกษาสาวชาวจีนนั่งดูซีรีส์เกาหลีข้ามวันข้ามคืนนาน 2 วันผ่านแท็บเล็ตจนมีอาการโรคต้อหินเฉียบพลันว่า การใช้แท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ ส่วนใหญ่มักเกิดอาการตาล้าหรือตาแห้ง แต่เคสที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นข้อเตือนใจได้ว่า สามารถก่อให้เกิดอาการที่อันตรายกว่าได้อีกคืออาการต้อหินเฉียบพลัน

 

นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า สาเหตุเกิดจากการที่ม่านตาขยายไปปิดมุมตาทำให้น้ำในลูกตาไม่สามารถไหลออกผ่านมุมตาได้ จนมีความดันในลูกตาสูงขึ้นมากและสูงอย่างรวดเร็วจนเกิดอาการของต้อหินเฉียบพลันได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดตามาก ตาแดง ซึ่งต้องรีบมาพบจักษุแพทย์

“โดยปกติแล้วรูม่านตาของคนเราจะหดเข้า-ออกตามแสง หากมีแสงมากรูม่านตาจะหดเล็กลง หากแสงน้อยก็จะขยายขึ้น การที่ใช้แท็บเล็ตนานเกินไปน่าจะทำให้รูม่านตาไปติดอยู่ในตำแหน่งหนึ่งในลักษณะกึ่งขยาย คือขยายได้ไม่เต็มที่ ภาวะเช่นนี้อาจทำให้ม่านตาไปปิดมุมตาได้ ซึ่งมุมตาจะอยู่ภายในดวงตา เกิดจากการทำมุมระหว่างม่านตากับปลายกระจกตา โดยแต่ละคนนั้นจะมีมุมตาไม่เท่ากัน บางคนมีมุมตากว้าง 45 องศา บางคนมุมตาแคบเพียง 10 องศาเท่านั้น ซึ่งคนที่มีมุมตาแคบจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าที่เมื่อม่านตาขยายแล้วไปปิดมุมตา จนปิดกั้นการไหลออกของน้ำในตา จนเกิดความดันลูกตาสูง และมีภาวะต้อหินเฉียบพลันได้” นพ.ไพศาลกล่าว

นพ.ไพศาลกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากผู้ป่วยรายนี้มีมุมตาที่แคบอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้น ทั้งนี้ การรักษานั้นอันดับแรกจะต้องลดความดันลูกตาลงก่อน โดยการหยอดตาหรือให้ยารับประทาน จนอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อเส้นประสาทตา จากนั้นจะรักษาด้วยการทำเลเซอร์ที่เรียกว่าแอลพีไอ โดยจะเลเซอร์ที่ม่านตาให้เกิดรู ซึ่งเป็นรูเล็กๆ ไม่กระทบต่อการมองเห็นแต่อย่างใด เพื่อเป็นทางระบายน้ำที่คั่งในดวงตา ซึ่งเมื่อน้ำในตาไหลผ่านออกรูนี้ก็จะทำให้ความดันลูกตาลดลงจนเป็นปกติ มุมตาที่ถูกปิดก็จะขยายกลับมาเช่นเดิม ยกเว้นในรายที่มุมตาปิดเรื้อรัง

อย่างไรก็ตาม เราไม่ทราบว่ามุมตาของเราแคบหรือกว้าง หรือต่อให้มุมตากว้างก็ไม่ควรใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเป็นเวลานานๆ ใช้แล้วควรที่จะต้องพักสายตาบ่อยๆ

นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำ รพ.สอยดาว จ.จันทบุรี กล่าวถึงโรคทางสายตาจากการเสพติดเทคโนโลยี หรือเทคโนโลยีซินโดรมว่า การเสพติดคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต เป็นเหตุหนึ่งทำให้เกิดความเครียดและล้าของสายตาได้ อาการเตือนคือแสบตา ตาแห้ง น้ำตาไหล กะพริบตาบ่อย ปวดเมื่อยล้าที่กระบอกตา สายตาพร่า มองเห็นไม่ชัด บางคนมีอาการปวดศีรษะไมเกรนร่วมด้วย เนื่องจากต้องเพ่งภาพหรือตัวอักษรขนาดเล็กที่อยู่ในจอ ทำให้ม่านตาขยายใหญ่ขึ้นกว่าปกติ

วิธีรักษาด้วยตนเองคือนอนหลับเป็นเวลา 7 ชั่วโมงอย่างต่ำ และดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในตา หรือทำประคบเย็น โดยให้ใช้ผ้าขนหนูพับ 3 ส่วน นำไปแช่น้ำจนเย็น บิดหมาดๆ วางปิดตั้งแต่ขมับให้ทับพาดผ่านดวงตา เว้นสันจมูก ไปถึงขมับอีกข้าง ถ้าเย็นเกินไปให้เอาออก หากหายเย็นให้นำไปแช่น้ำเย็นใหม่อีกครั้ง ทำติดต่อกัน 20 นาที พัก 1 นาที วันละ 2 หน จะช่วยลดความเครียด เพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ส่วนเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ใช้เท่าที่จำเป็นและปลอดภัย คือใช้ประมาณ 25 นาที พัก 5 นาที หรือใช้ 30 นาที พัก 10 นาที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook