“ยิ่งดื่ม ยิ่งเสี่ยง” เข้าพรรษานี้ งดเหล้า ช่วยลดโอกาสเกิดคลัสเตอร์ และเพิ่มภูมิคุ้มกัน สู้โควิด 19
เหล้า...มันเกี่ยวอะไรกับโควิด...
กินเหล้าคนเดียวไม่ได้ไปกินกับคนอื่น ไม่ติดหรอก…
โควิดแพ้แอลกอฮอล์ กินเหล้าก็เหมือนฆ่าเชื้อ
หลายความเชื่อเกี่ยวกับเหล้า ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดและมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจนน่าเป็นห่วง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในการติดมากมาย เหล้าก็เป็น 1 ในนั้น ทั้งเสี่ยงที่จะติด หรือแพร่เชื้อ รวมไปถึงเกิดป่วยหนัก หลายคนคิดว่าโควิด 19 เป็นอาการที่เกิดกับปอด ไปเตือนคนสูบบุหรี่เถอะ เพราะไม่น่าจะเกี่ยวกับการดื่มเหล้า แต่จริงๆ แล้วการดื่มเหล้าทำให้เกิดความเสี่ยงกับ “โควิด 19” ไม่แพ้บุหรี่
ทั้งเสี่ยงเป็นที่รับหรือกระจายเชื้อ หรือที่เรียกกันว่าคลัสเตอร์ เพราะทุกครั้งที่ตั้งวงกินเหล้า กับเพื่อนๆ คุณกำลังเสี่ยง ด้วยการเปิดหน้ากากเพื่อดื่ม ซึ่งก็มีโอกาสที่เชื้อโควิดจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ หรือพอเมา ขาดสติ แล้วคุณเผลอหยิบแก้วเหล้าของคนอื่นมาดื่ม หรือคนอื่นหยิบแก้วคุณไปดื่ม จนเป็นข่าว การระบาดในวงเหล้ามาแล้วหลายจังหวัด นอกจากจะติดในวงเหล้า ยังนำพาเชื้อเข้าไปติดในครอบครัวจนเกิดการติดเชื้อโควิดในเด็ก และ คนแก่อีกด้วย
นอกจากปัจจัยเสี่ยงโควิดจากการสัมผัสกันในวงเหล้าแล้ว ในทางการแพทย์ เหล้าเป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะทุกครั้งที่ดื่มเหล้า เราจะสูญเสีย กองกำลังป้องกันตัวเอง อย่างเม็ดเลือดขาว โดยข้อมูลจากผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว จากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ได้อธิบายหลักการให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า เหล้ากับโควิด 19 เกี่ยวข้องกันยังไง ก็ทุกครั้งที่คุณดื่มเหล้า จะมีผลกระทบระหว่างเหล้ากับร่างกาย อยู่ 2 ประเด็น คือเชื้อเข้าปอดง่าย และ เชื้อทำลายปอดได้รุนแรง
1 เชื้อเข้าสู่ปอดง่าย ลดประสิทธิภาพของระบบการป้องกันตัวเอง โดยที่ปอดเป็นอวัยวะภายในที่สัมผัสอากาศซึ่งเป็น สิ่งแวดล้อมภายนอกโดยตรง โดยปอดจะมีการป้องกันจะแตกต่างจากอวัยวะอื่นๆ เพราะโดยธรรมดาคนจะมีผิวหนังด้านนอกคอยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาในร่างกาย เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายได้จากแค่บาดแผลเท่านั้น แต่ปอดเป็นอวัยวะภายในร่างกายที่ต้องรับอากาศจากภายนอกเข้าไปในปอด เพื่อใช้แลกเปลี่ยนก๊าซ ในการฟอกเลือดดำที่ส่งจากหัวใจวิ่งมาที่ปอด ดังนั้นในทางเดินหายใจและปอดจะมีระบบที่คอยทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาพร้อมกับลมจากภายนอก จะเป็นขนเล็กๆ(cilia) ที่คอยเขี่ยสิ่งแปลกปลอมออกมา โดยจะค่อยๆ เขี่ยสิ่งแปลกปลอมในอากาศขึ้นมาจากหลอดลมในปอดรวมกัน กลายเป็นเสมหะ ให้ร่างกายขับออกมา โดยแอลกอฮอล์จะเข้าไปลดประสิทธิภาพการทำงานของขนเล็กๆ ที่เยื้อหุ้มผนังหลอดลม ทำให้สิ่งแปลกปลอมเข้ามาสู่ปอดไปง่ายขึ้น เพราะขนเหล่านั้นมีการเคลื่อนไหวลดลง ทำให้เขี่ยสิ่งแปลกปลอมออกมาได้ลดลง สิ่งแปลกปลอมซึ่งรวมถึงเชื้อโรคต่างๆ จะมีโอกาสสะสมในปอดมากขึ้น
2 เชื้อทำลายปอดได้รุนแรง เพราะมีการลดปริมาณ ลดคุณภาพและลดความสามารถ ของเม็ดเลือดขาวในปอด ระบบจัดการสิ่งแปลกปลอมของปอด นอกจากจะขนเส้นเล็กๆ ก็จะมีเม็ดเลือดขาว ซึ่งมีหน้าที่คอยกินเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียตัวเล็กๆ โดยเรียกว่า Macrophage ซึ่งเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ การทำงานของ Macrophage จะแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปริมาณ เพราะ แอลกอฮอล์ จะเข้าไปทำให้ระบบสื่อสาร เรียกกำลังพล ให้ออกมาจัดการกับเชื้อโรคนั้นขัดข้อง ทำให้จำนวน Macrophage เข้ามาจัดการเชื้อโรคได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เช่นจะต้องออกเม็ดเลือดขาว 100 ตัว เพื่อรุมจัดการเชื้อโรค แต่แอลกอฮอล์จะไปเข้าไปทำให้การส่งสัญญาณเรียก Macrophage ขัดข้อง จนทำให้มารวมตัวได้น้อยลงโดยลดไป 87% หลังดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก นอกจากนั้นเม็ดเลือดขาวที่มายังลดประสิทธิภาพลง และยังไปยับยั้งระบบการสร้าง Macrophage ให้ผลิตน้อยลง ส่งผลให้เชื้อโรคที่เข้ามายังปอดไม่มีหน่วยเข้าไปจัดการ สามารถสร้างความเสียหายให้กับปอดได้มากขึ้น จนมีหลักฐานที่ชัดเจนว่า กลุ่มผู้ป่วยโควิด ที่ดื่มเหล้าหนักๆ ถ้าได้รับเชื้อโควิด จะมีอาการที่รุนแรงกว่า ส่งผลให้มีโอกาสเข้า ICU และ ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเพิ่มขึ้น 5% และระบบทางเดินหายใจล้มเหลวรุนแรงเพิ่มขึ้น 7%
ในช่วงเข้าพรรษาแบบนี้ จึงเป็นโอกาสดีๆ ที่ชวนให้งดเหล้า เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดคลัสเตอร์โควิด เพราะการรวมตัวกันดื่ม และเป็นการทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายกลับมาทำงานได้ดีขึ้น เพราะเมื่อคนงดเหล้า ร่างกายจะเริ่มฟื้นฟู จนใกล้เคียงปกติ ทำให้ร่างกายพร้อมสู้กับเชื้อโรค และวิกฤตต่างๆ หากต้องการวิธีการงดเหล้าให้ปลอดภัยจากผู้เชี่ยวชาญ โทรปรึกษา1413 สายด่วนงดเหล้า
[Advertorial]