ไขข้อสงสัย "ความดันสูง" ฉีด "วัคซีนโควิด-19" ได้หรือไม่?

ไขข้อสงสัย "ความดันสูง" ฉีด "วัคซีนโควิด-19" ได้หรือไม่?

ไขข้อสงสัย "ความดันสูง" ฉีด "วัคซีนโควิด-19" ได้หรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้ป่วยที่มีอาการความดันโลหิตสูงเป็นโรคประจำตัว สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ แต่ต้องควบคุมระดับให้อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ และเตรียมตัวไปอย่างเหมาะสมทั้งก่อนและหลังฉีดวัคซีน

ศ. นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง สามารถเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แต่ต้องควบคุมความดันโลหิตไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท

ทางด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีการสอบถามความคิดเห็นจากทางสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย เห็นว่า สามารถวัดความดันโลหิตก่อนการฉีดวัคซีนได้ ยกเว้นกรณีเดียวที่ให้พิจารณาเลื่อนการฉีดออกไป คือ กำลังอยู่ในภาวะความดันโลหิตสูงฉุกเฉินวิกฤต

ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ไม่ต้องงดยาลดความดันก่อนฉีดวัคซีน และคนที่มีความดันโลหิตสูงก็สามารถฉีดวัคซีนได้ ยกเว้นกรณีความดันโลหิตสูงฉุกเฉินวิกฤต ที่มีอาการอื่นแสดงร่วมด้วย สังเกตจากอาการหอบเหนื่อย ซึม ชัก หรือไตวายเฉียบพลัน ซึ่งต้องเข้าไอซียู ดังนั้น ความดันโลหิตสูงจึงสามารถฉีดวัคซีนได้ เพราะไม่ได้มีการกำหนดค่าระดับว่า ความดันโลหิตสูงระดับใดห้ามฉีด

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยความดันสูงขึ้นก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจมาจากความเครียด ความตื่นเต้น หรือเหนื่อยจากการเดินทางมาถึงสถานที่ฉีด ผู้ป่วยสามารถนั่งพักเฉยๆ สงบสติอารมณ์จนสงบ แล้ววัดค่าความดันใหม่ก่อนฉีดได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักมีค่าความดันลงที่ทีมแพทย์เห็นว่าสามารถรับวัคซีนได้

ความดันโลหิตสูง เตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างไรบ้าง?

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคประจำตัว เช่น กลุ่มผู้สูงอายุต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีความดันโลหิตสูงเกินกว่าปกติต้องปรึกษาแพทย์เพื่อปรับยาหรือแผนการรักษา

ข้อปฏิบัติของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หลังฉีดวัคซีนโควิด-19

ภายใน 2-4 ชั่วโมง หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไม่ควรออกกำลังกาย เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น มีไว้ ปวดเมื่อยหรืออ่อนเพลีย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงสามารถรับประทานยาประจำตัวได้ตามปกติ ยกเว้น หากรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือดต้องแจ้งแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน เช่น มีเลือดออกในกล้ามเนื้อบริเวณจุดที่ฉีดยา เกิดการบวม หรือมีรอยช้ำซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยกดบริเวณที่ฉีดวัคซีนให้นานขึ้นเป็นเวลา 5 นาที และสังเกตว่ามีอาการบวมหรือมีรอยซ้ำเกิดขึ้นหรือไม่

คำแนะนำจากแพทย์

ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ไม่ควรหยุดรับประทานยาประจำตัวเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แต่ต้องควบคุมความดันโลหิตไม่ให้เกิน 140 /90 มิลลิเมตรปรอท และควรรีบเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อป้องกันตนเองและคนรอบข้าง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook