น้ำหนักปกติ แต่ "มีพุง" ระวังเสี่ยงโรคหัวใจ
แม้ว่าน้ำหนักของเราจะอยู่ในช่วงน้ำหนักปกติ ไม่ได้อยู่ในขั้นที่เรียกว่าอ้วนหรือเสี่ยงอ้วน แต่ไขมันส่วนเกินที่หน้าท้อง หรือที่เราเรียกกันว่า “พุง” อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจให้เราได้
จากบทความโดยสมาคมโรคหัวใจอเมริกัน (American Heart Association) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ระบุว่า ไขมันในช่องท้อง (VAT) ที่อยู่ลึกลงไปข้างในท้องโอบล้อมอวัยวะหลายๆ ส่วนด้านในร่างกายอยู่ (ไม่ใช่แค่ชั้นไขมันที่อยู่ตรงพุงให้เราจิ้มเด้งๆ ได้เล่นๆ) ไขมันในช่องท้องไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากภายนอก แต่มีอันตรายต่อร่างกายมาก เพราะสามารถเพิ่มความเสี่ยงอาการอักเสบต่างๆ ทำลายสุขภาพหลอดเลือดให้แย่ลง และยังเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจอีกด้วย
มี “พุง” แค่ไหน ถึงเสี่ยงโรคหัวใจ
วัดความสูง และขนาดรอบเอวมาเทียบกัน เพื่อประเมินค่าไขมันในช่องท้อง โดยวัดรอบเอวเหนือสะดือเทียบกับส่วนสูง (หน่วยเดียวกัน) ขนาดของเอวไม่ควรมากกว่า ⅓ ของความสูงตัวเอง
วิธีลดพุงง่ายๆ
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การออกกำลังกายขั้นพื้นฐานสามารถลดพุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยออกกำลังกายทั่วไปเป็นเวลา 150 นาทีต่อสัปดาห์ ด้วยความหนักในการออกกำลังกายปานกลาง เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ วิ่งจ๊อกกิ้ง หรือการออกกำลังกายแบบใช้พลังงานหนัก เวทเทรนนิ่งปานกลาง เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ ลดไขมันส่วนเกินของร่างกาย