5 สัญญาณอันตราย ปวดหัวข้างเดียวรุนแรงหลายครั้ง เสี่ยงปวดหัวแบบ “คลัสเตอร์”

5 สัญญาณอันตราย ปวดหัวข้างเดียวรุนแรงหลายครั้ง เสี่ยงปวดหัวแบบ “คลัสเตอร์”

5 สัญญาณอันตราย ปวดหัวข้างเดียวรุนแรงหลายครั้ง เสี่ยงปวดหัวแบบ “คลัสเตอร์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เตือน อาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ เป็นภาวะปวดหัวรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ปวดข้างเดียว หรืออาจปวดบริเวณรอบดวงตา และอาจเกิดขึ้นหลายครั้งภายในวันเดียว ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แนะควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา

ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ คืออะไร?

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาการปวดศีรษะเป็นหนึ่งในอาการที่ทุกคนเคยเจอมาแล้ว แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าอาการปวดศีรษะนั้นมีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ อาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า cluster headache จะพบได้ไม่บ่อยเท่าปวดศีรษะไมเกรน 

ผู้ป่วยส่วนหนึ่งได้รับการวินิจฉัยเป็นไมเกรนทั้งที่ไม่ใช่ ถ้าได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องได้รับการรักษาที่ตรงจะช่วยลดอาการปวดศีรษะได้ดีกว่าในผู้ป่วยบางรายอาการปวดรุนแรง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง

สาเหตุของอาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์

ปัจจุบันมีข้อมูลว่าโรคนี้เกิดจากการทำงานผิดปกติของสมองส่วนไฮโปทาลามัส 

สัญญาณอันตราย อาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติม โรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ พบบ่อยในผู้ชาย อายุที่พบเฉลี่ยประมาณ 40 ปี แต่อายุน้อยกว่านี้ก็สามารถพบได้ และระยะหลังมานี้สามารถพบในผู้หญิงได้ไม่น้อยเช่นกัน 

ลักษณะการปวดสามารถสังเกตได้ ดังนี้

  1. ปวดศีรษะรุนแรง โดยเฉพาะที่รอบเบ้าตา หรือขมับข้างใดข้างหนึ่ง
  2. ปวดศีรษะร่วมกันกับมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น 
  • ตาแดง
  • น้ำตาไหล
  • เปลือกตาบวม
  • คัดจมูกข้างเดียวกับที่ปวด
  1. มีระยะเวลาปวดศีรษะราว 15 นาทีจนถึงสามชั่วโมง
  2. มักมีอาการปวดศีรษะเวลาเดิมๆ ของวัน เช่น มักปวดตอนสิบโมงเช้า ตีหนึ่ง เป็นต้น
  3. อาจมีอาการปวดแบบนี้ได้ตั้งแต่วันเว้นวันจนถึง 8 ครั้งต่อวัน และปวดไปเช่นนี้ติดต่อเกือบทุกวัน ไปเป็นอาทิตย์ จนถึงสองสามเดือนแล้วหาย และจะวนกลับมาเป็นอีกในช่วงเวลาเดิมๆ ของปีถัดๆ ไป ลักษณะที่มีปวดติดต่อกันเป็นช่วงๆ แบบนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ คลัสเตอร์

การวินิจฉัยโรค และการรักษาปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์

แพทย์จะทำการซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกายและส่งตรวจเอ็กซเรย์ระบบประสาท เพื่อแยกจากโรคที่อาจมีอาการคล้ายกัน จากนั้นแพทย์จะให้การรักษาซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

  1. การรักษาระหว่างปวด เช่น ยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์เร็ว การให้ออกซิเจนทางหน้ากากครอบจมูก
  2. การป้องกันหรือลดระยะเวลาที่ปวด เช่น การฉีดยารอบเส้นประสาท occipital และการใช้ยาอื่นๆ ที่จำเพาะต่อโรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ 

โรคปวดศีรษะมีหลายประเภทซึ่งมีสาเหตุที่แตกต่างกัน การซื้อยาแก้ปวดทานเองบ่อยครั้งอาจกระตุ้นให้อาการปวดศีรษะเป็นมากขึ้นและเกิดอันตรายได้ เมื่อมีอาการปวดศีรษะควรรีบมาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสมสามารถทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook