"ฟ้าทะลายโจร-กระชาย" อาจอันตรายต่อ "หญิงตั้งครรภ์-ให้นมบุตร"
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายคนหันมาใช้สมุนไพรไทย อย่างฟ้าทะลายโจร และกระชายสู้โควิด-19 อย่างไรก็ตาม แพทย์ได้ออกมาแนะนำให้ใช้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
ฟ้าทะลายโจร-กระชาย ควรระมัดระวังในหญิงตั้งครรภ์-ให้นมบุตร
ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า พืชกระชายขณะนี้อยู่ในขั้นวิจัยในหนูทดลอง กินมากจะท้องเสีย ขายในท้องตลาดรักษาโควิดไม่ได้ ขณะที่ผอ.วิจัยการแพทย์แผนไทย ยันไม่แนะนำใช้ฟ้าทะลายโจรกับหญิงตั้งครรภ์-ให้นมบุตร ส่วนคนแห่กักตุนกินป้องกัน เตือนเหรียญมีสองด้าน ใช้เวลานานมีผลเสีย ความดันตก แขนขาชา และมีผลต่อตับ
ในวง CLUBHOUSE นมแม่ EP25 จัดโดยมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. เปิดประเด็นเสวนาเรื่อง ยา / สมุนไพรอะไร ใช้กับโควิด-19 แต่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ & ให้นมบุตร มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ การแพทย์แผนไทย มาร่วมพูดคุยหลายท่าน
พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และอดีตผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวถึงปัญหาเด็กติดโควิด ตั้งแต่เดือนมิถุนายน กรกฎาคม ปี 2564 พบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี พุ่งขึ้นเร็วมาก จำนวนนับหมื่นคน ขณะเดียวกันก็เจอปัญหาคอขวด การตรวจ RT-PCR รอเตียง ระหว่างรอเด็กไม่ได้รับยา ทั้งที่ควรได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ด้านนพ.กุลธนิต วนรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัยการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ยาและสมุนไพร โดยเฉพาะฟ้าทะลายโจรนั้น ถูกยกสถานะเป็นยาแล้ว แต่ก็มีข้อบ่งใช้กับบุคคลที่มีความเสี่ยง ให้ให้ไวที่สุดและเพียงพอเพื่อจัดการกับไวรัสได้เร็ว โดยให้ยาภายใน 72 ชั่วโมง กับผู้ติดเชื้อโควิด มีอาการเล็กน้อยไม่รุนแรง ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง สัมผัสสีแดง เช่น อยู่บ้านเดียวกับผู้ติดเชื้อโควิด เป็นต้น
"ฟ้าทะลายโจรไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อเข้าเซลล์ แต่สามารถยับยั้งการเพิ่มเซลล์ของเชื้อโควิดได้ ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้กินฟ้าทะลายโจรเพื่อป้องกันโควิด"
นพ.กุลธนิต กล่าวถึงฟ้าทะลายโจร จะมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ ควรรับประทานขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งเป็น 3 มื้อ รับประทานติดต่อกันได้ 5 วัน ถึงจะมีผล ซึ่งกระแสการกักตุนฟ้าทะลายโจรไว้สำหรับกินเพื่อป้องกัน เหมือนกับที่เหรียญมีสองด้าน มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี หากกินเพื่อป้องกันระยะนานๆ มีผลเสีย เพราะฟ้าทะลายโจร เป็นพืชสมุนไพร มีฤทธิ์เย็น ทำให้ความดันตก แขนขาชา และมีผลต่อตับ ฉะนั้นการกินระยะยาวเราไม่แนะนำ กินเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ถึงจะเหมาะสม
"การทานแบบสดๆ เคี้ยว หรือชงเป็นชานั้น เป็นภูมิปัญญาโบราณ เราไม่สามารถวัด สารแอนโดรกราโฟไลด์ ได้ ดังนั้นปริมาณอาจไม่ถึงหรือมากเกินไปได้"
นพ.กุลธนิต กล่าวถึงข้อห้ามใช้ฟ้าทะลายโจรกับหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดการบีบตัวของมดลูก ทำให้แท้งได้ หรือทารกผิดปกติได้ ส่วนหญิงให้นมบุตรหากติดโควิด การให้นมบุตรอาจทำให้เด็กมีอันตรายได้ ดังนั้นหญิงให้นมบุตรติดโควิดสามารถงดให้นมบุตรไปก่อน เมื่อกินฟ้าทะลายโจรระยะ 5 วัน ก็เว้นระยะการให้นมบุตรสัก 2-3 วันได้ก่อนกลับมาให้นมบุตรใหม่
ขณะที่ ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ กล่าวถึงสมุนไพรโดยธรรมชาติมี 3 กลุ่ม ทำให้เกิดความร้อนกับร่างกาย ทำให้เย็น และกลุ่มกลางๆ ดังนั้น เด็กในท้องก็เหมือนสิ่งมีชีวิตที่เพิ่งเติบโต มีผลกับเด็กได้ ซึ่งวิธีการให้ยาสมุนไพรสำหรับคนโบราณในหญิงตั้งครรภ์ คือการใช้ภายนอก กินในรูปแบบอาหาร เช่น การกวาดคอ
"หญิงตั้งครรภ์ ห้ามกินฟ้าทะลายโจร มีผลศึกษาชัดเจนมาก ทำให้สัตว์ทดลองตกลูก ขณะที่ขนาดยาที่ใช้รักษาโควิด ใช้ขนาดยาสูงมากจึงไม่แนะนำให้ใช้กับหญิงตั้งครรภ์ ส่วนหญิงให้นมบุตร การศึกษาพบว่า การกำจัดยาออกจากร่างกายภายใน 1 วัน ฉะนั้น ก็สามารถกินยาฟ้าทะลายโจร 5 วัน วันที่ 7 วันค่อยให้นมบุตร"
สุดท้าย ศ. นพ.สุรเดช หงส์อิง คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวถึงพืชกระชายขาว ที่กำลังบูมในวันนี้ เกิดจากปี 2563 คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกันการวิจัยสมุนไพรไทย ประมาณ 123 ตัว ปรากฏว่า ผลมี 3 ตัวที่ฮิต ฟ้าทะลายโจร ขิง และกระชาย ที่น่าสนใจ มีฟ้าทะลายโจร และกระชาย
"ที่เราสนใจศึกษากระชาย มาจับกระชาย เพราะเรากินกระชายเป็นอาหาร ไม่เหมือนฟ้าทะลายโจร กินเป็นยา ซึ่งสารสกัดสำคัญในกระชาย มี 2 ตัว Pandulatin และ Pinostrobin สามารถยับยั้งไวรัสไม่ให้เข้าเซลล์ และออกจากเซลล์ด้วย ต่างจากฟ้าทะลายโจร"
ศ.นพ.สุรเดช กล่าวว่า วันนี้ขั้นตอนวิจัยกระชายเป็นการทดลองในหนู ยังไม่มีข้อมูลกระชายทดลองในคน การศึกษาปรากฏว่า หนูติดโควิด กินกระชายสามารถลดการอักเสบของปอดได้ดีทีเดียว ฉะนั้น การบริโภคสมุนไพรใดๆ เป็นยา ที่ต้องใช้โดสสูงมาก จึงต้องแบ่งทานเป็นสามเวลา วันละหลายเวลา
ศ.นพ.สุรเดช กล่าวถึงการนำกระชายมาต้มกิน กินยังไงโดสก็ไม่ถึง หรือปั่นเป็นผง ก็ไม่ถึงเช่นกัน ซึ่งวิธีการบริโภคสมุนไพรเป็นยา ต้องสกัด
"จากการทดลองในหนู หากนำกระชายมาใช้ในคน วันหนึ่งต้องกินกระชายไม่ต่ำกว่า 6 ขีดต่อวัน ซึ่งไม่รู้จะกินได้หรือไม่ นี่คือข้อมูลเบื้องต้น อีกทั้งกระชายหากรับประทานมากๆ จะท้องเสีย การบริโภคกระชายเพื่อรักษาจะทำให้ท้องอืด ท้องเสีย ปวดท้อง มวลท้อง"
ศ. นพ.สุรเดช กล่าวทิ้งท้ายถึงการโฆษณากระชาย ขายตามท้องตลาดด้วยว่า เป็นตำรับสกัดด้วยน้ำ ซึ่งสาร Pandulatin และ Pinostrobin ต่ำมาก ป้องกันหรือรักษาโควิดไม่น่าจะได้
"การบริโภคกระชายขาวเป็นยา ในปริมาณโดสสูงๆ ไม่แนะนำ แต่เราสามารถทานกระชายเป็นอาหารได้ วันนี้เรายังไม่มีข้อมูลการศึกษาเรื่องกระชายออกมา"