Work From Home กินแล้วไม่ขยับ เสี่ยง 4 ปัญหาโรคทางเดินอาหาร

Work From Home กินแล้วไม่ขยับ เสี่ยง 4 ปัญหาโรคทางเดินอาหาร

Work From Home กินแล้วไม่ขยับ เสี่ยง 4 ปัญหาโรคทางเดินอาหาร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • การที่ไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย เมื่อต้องทำงานที่บ้าน แต่ยังบริโภคอาหารเหมือนเดิมหรือเพิ่มขึ้น อาจจะส่งผลโดยตรงกับระบบทางเดินอาหาร ก่อเกิดเป็นภาวะผิดปกติในรูปแบบต่างๆ ได้ โดยเฉพาะ 4 ปัญหาหลักคือ อาหารไม่ย่อย ลำไส้แปรปรวน ท้องผูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • หากไม่สามารถขับถ่ายได้ปกติหรือพบสิ่งผิดปกติปนเปื้อนมากับอุจจาระ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันโรคที่ร้ายแรงอย่างมะเร็งกระเพาะอาหารหรือมะเร็งลำไส้

แพทย์หญิง วินิตา โอฬารลาภ แพทย์ชำนาญการด้านโรคระบบทางเดินอาหาร รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า สถานการณ์การระบาดซ้ำของไวรัสโคโรนา หรือโรค "โควิด-19" ในไทย ทำให้นโยบาย “การทำงานที่บ้าน” หรือ Work From Home กลับมาเยือนชาวออฟฟิศอีกครั้ง เพื่อเว้นระยะห่าง ลดการพบปะและการเดินทางให้น้อยที่สุด ส่งผลให้ผู้ที่ต้องทำงานที่บ้าน อาจต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพได้ โดยเฉพาะโรคในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับกลไกการย่อยอาหาร ดูดซึม และขับถ่ายของร่างกาย

ดังนั้น เมื่อต้องทำงานที่บ้าน นอกจากการทำงานจะสร้างความเครียดแล้ว การที่ไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย แต่ยังบริโภคอาหารเหมือนเดิม หรือบางรายอาจเพิ่มขึ้น แถมบางครั้งยังไม่ถูกหลักโภชนาการ จึงสามารถส่งผลโดยตรงกับระบบทางเดินอาหาร ก่อเกิดเป็นภาวะผิดปกติในรูปแบบต่างๆ ได้ ทั้งโรคลำไส้แปรปรวน อาหารไม่ย่อย ภาวะท้องผูก ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจกลายเป็นโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งกระเพาะอาหารหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในที่สุด

  1. อาหารไม่ย่อย (Dyspepsia)

อาการอาหารไม่ย่อย คือ ภาวะความไม่สบายที่เกิดบริเวณหน้าอกหรือใต้ลิ้นปี่ ความรู้สึกอิ่มแน่นเกินไป ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังการรับประทานอาหาร อาจมีเพียงอาการเดียวหรือหลายอาการร่วมได้ เช่น ท้องอืด แน่นท้อง หรือมีลมในท้อง โดยสามารถเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือเกิดได้ทุกวัน โดยสาเหตุของอาการอาหารไม่ย่อยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ได้แก่ การรับประทานอาหารมากเกินไปหรือเร็วเกินไป โดยเฉพาะอาหารรสจัดและไขมันสูง  ดื่มแอลกอฮอล์ กินช็อกโกแลต ดื่มชา กาแฟ หรือน้ำอัดลมมากเกินไป การสูบบุหรี่ รวมไปถึงความวิตกกังวลหรือความเครียดด้วยเช่นกัน

การรักษาอาการอาหารไม่ย่อยนั้น เบื้องต้นสามารถบรรเทาอาการ โดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการดำเนินชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและไขมันสูง แบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็กๆ 5-6 มื้อต่อวัน ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน หลีกเลี่ยงปัญหาที่ทำให้วิตกกังวลหรือเครียดจัด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทั้งนี้ หากปรับพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย แพทย์อาจให้เป็นยารับประทาน เช่น ยาลดกรด และอาจทำการตรวจเลือด อุจจาระ เพิ่มเติมได้ และหากแพทย์สงสัยว่าภาวะอาหารไม่ย่อยนั้นอาจเกิดจากโรคอื่น เช่น แผลในกระเพาะอาหาร แพทย์อาจทำการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน รวมถึงตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการนี้

  1. โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS)

โรคลำไส้แปรปรวน เป็นโรคที่มีภาวะการทำงานของลำไส้ผิดปกติ ทำให้เกิดอาการท้องอืด มีแก๊ส และปวดท้อง ร่วมกับการขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรือท้องผูกสลับกับท้องเสีย อีกทั้งยังเป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อย ในปัจจุบันนั้น ยังไม่สามารถหาสาเหตุของการเกิดโรคลำไส้แปรปรวนได้ชัดเจน แต่พบว่าเพศหญิงมีแนวโน้มเป็นโรคลำไส้แปรปรวนมากกว่าเพศชายถึง 2 เท่า รวมถึงผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น มีอายุต่ำกว่า 45 ปี มีประวัติครอบครัวเป็นโรคลำไส้แปรปรวน และผู้ที่มีความเครียดสะสมและมีความวิตกกังวลสูง

ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนส่วนใหญ่จะมีอาการแสดงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และอาการเหล่านี้สามารถหายได้จากการปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารหรือการลดความวิตกกังวลและความเครียดลง ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจต้องรักษาด้วยการใช้ยา แต่อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ร่วมกับมีเลือดออกทางทวารหนัก รวมถึงมีน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยยืนยันตั้งแต่ต้นว่าผู้ป่วยเป็นเพียงโรคลำไส้แปรปรวน ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ 

ดังนั้น หากพบอาการผิดปกติหรือสงสัยว่าเป็นโรคลำไส้แปรปรวน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเพิ่มปริมาณกากใยอาหาร เพื่อช่วยระบบย่อยอาหารให้ทำงานดีขึ้น จัดการความเครียด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  เมื่อปฏิบัติตามวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น ให้พบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อจะได้กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

  1. ท้องผูก (Constipation)

ภาวะท้องผูก เป็นภาวะที่พบได้บ่อยถึงประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั่วไป ซึ่งอาการท้องผูกนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางคนอาจหมายถึงการที่ต้องใช้แรงและเวลานานเพื่อเบ่งถ่ายอุจจาระ บางคนอาจหมายถึงความถี่ของการถ่ายอุจจาระหรือการถ่ายอุจจาระนานๆ ครั้ง บางคนอาจหมายถึงความรู้สึกเหมือนยังถ่ายไม่สุดเมื่อถ่ายเสร็จแล้ว หรือบางคนอาจหมายถึงการมีอาการปวดท้องหรือท้องอืดร่วมกับอาการท้องผูกด้วย  

สาเหตุของอาการท้องผูกแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ แบบปฐมภูมิ ที่มักเกิดจากสรีรวิทยาของการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป และแบบทุติยภูมิ ที่มีสาเหตุจากปัจจัยบางอย่าง เช่น ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด โรคทางต่อมไร้ท่อ และโรคทางระบบทางเดินอาหาร 

การรักษาภาวะท้องผูก สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกาย และการใช้ยาระบาย หากผู้ป่วยละเลยการรักษาจนเกิดภาวะท้องผูกเรื้อรัง หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา อาจมีสาเหตุมาจากการเบ่งถ่ายที่ผิดวิธี หรือมีภาวะ Dyssynergia ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยด้วยเครื่องมือตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนปลายของลำไส้ใหญ่และหูรูดทวารหนัก (Anorectal manometry) การรักษาที่ได้ผลต่อภาวะนี้ คือ การฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเบ่งถ่ายให้ทำงานถูกต้อง (Biofeedback training) เป็นการฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเบ่งถ่ายให้ทำงานถูกวิธีด้วยเครื่องมือที่แสดงการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่าย ให้ผลดีในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการท้องผูกร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด ถ่ายเป็นเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย โดยเฉพาะในผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือเริ่มมีอาการท้องผูกตอนอายุมากกว่า 50 ปี ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด เนื่องจากภาวะท้องผูกนั้น ถึงแม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

  1. มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer)

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ในลำไส้ใหญ่มีการเปลี่ยนแปลง เกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนจนควบคุมไม่ได้ และไม่ได้รับการรักษา จนทำให้เกิดโรคมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายของระบบทางเดินอาหารได้ในที่สุด ในประเทศไทยพบเป็นอันดับ 3 ของโรคมะเร็งทุกชนิด พบมากในผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หากเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว มักพบอาการท้องอืด ท้องเสียสลับกับท้องผูก มีเลือดปนมาในอุจจาระ ซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดเบ่งบริเวณทวารหนักคล้ายปวดอุจจาระตลอดเวลา อาจคลำได้ก้อนในช่องท้อง

สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดเช่นเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่มีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ นั่นก็คือ ผู้ป่วยที่มีประวัติพบเนื้องอก (Polyps) ในลำไส้ มีภาวะลำไส้อักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะเนื้อแดงที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนสูง การใช้น้ำมันทอดซ้ำๆ การรับประทานอาหารประเภทปิ้ง/ย่าง อาหารหมักดองเป็นประจำ รวมถึงสารเคมีจากผักที่ล้างไม่สะอาด ทำให้ร่างกายได้รับสารพิษและมีการตกค้างที่บริเวณลำไส้ รวมไปถึงอาจมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้อีกด้วย

การตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกเบื้องต้น ทำได้ด้วยการตรวจหาเลือดในอุจจาระและการตรวจเลือดดูระดับ Carcinoembryonic Antigen (CEA) หรือสารบ่งชี้โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และการตรวจโดยการส่องกล้อง Colonoscopy ซึ่งถือเป็นวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่  รวมถึง Narrow Band Image (NBI) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ที่ให้ผลที่ละเอียดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากพบว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะต้น แพทย์จะเลือกวิธีการผ่าตัดเพื่อรักษาเป็นอย่างแรก

การป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นสามารถทำได้โดยการเข้ารับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 50 ปี ในคนปกติ และ40 ปี ขึ้นไป สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง หรือมีบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่  นอกจากนี้การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์  ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานผักและผลไม้มากขึ้น ลดการกินเนื้อแดง งดดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ก็มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook