“ใส่สายอาหารทางหน้าท้อง” ช่วยผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินอาหารทางปากได้
การเจ็บป่วยจนทำให้ไม่สามารถกินอาหารทางปากได้จะทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหารซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนตามมา การใส่สายอาหารเพื่อให้สารอาหารลงสู่กระเพาะอาหารโดยตรงจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ซึ่งวิธีที่เราเห็นกันบ่อยๆ คือ การสอดสายอาหารทางจมูก แต่ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ได้สะดวกและยังเหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องใส่สายอาหารเป็นเวลานาน นั่นคือ การใส่สายอาหารทางหน้าท้อง
นพ.ปารินทร์ ศิริวัฒน์ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลนวเวช ได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการใส่สายอาหารทางหน้าท้อง รวมถึงการเปลี่ยนสายอาหารทางหน้าท้อง จึงขอยกบทความของคุณหมอมาเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจ
เมื่อไร ถึงควรพิจารณาให้อาหารทางหน้าท้อง
ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใส่สายให้อาหารทางจมูก (สาย NG, nasogastric tube) เช่น ผู้ป่วยที่กินอาหารทางปากเองไม่ได้ หรือได้น้อยกว่าที่ร่างกายควรได้รับ ผู้ป่วยโรคสมอง ผู้ป่วยกลืนลำบาก ผู้ป่วยเสี่ยงการสำลัก ผู้ป่วยที่ต้องเว้นการกินทางปากบ่อยๆ จนขาดสารอาหาร เช่น เหนื่อยบ่อยจากโรคปอดหรือหัวใจ ผู้ป่วยโรคมะเร็งปาก คอหอย และหลอดอาหารที่รอการฉายรังสีหรือผ่าตัด เป็นต้น หากผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่สายให้อาหารทางจมูก NG นานกว่า 4-6 สัปดาห์ และมีภาวะแทรกซ้อนจาการใส่สายให้อาหารทางจมูก NG เช่น แผลกดทับของสายกับเนื้อบริเวณจมูก รูจมูก และไซนัสอักเสบ หรือผู้ป่วยชอบดึงสายจมูกออก อาจเลือกวิธีใส่สายให้อาหารทางหน้าท้อง (Percutaneous Endoscopic Gastrostomy : PEG) เพื่อให้อาหารผ่านทางหน้าท้องแทน
ข้อดีของการให้อาหารทางหน้าท้อง
ความสะดวกของการทำสาย PEG ให้อาหารทางหน้าท้อง คือ ทำได้โดยการส่องกล้อง ไม่จำเป็นต้องเข้าห้องผ่าตัด และไม่มีแผลขนาดใหญ่ โดยนอนโรงพยาบาลเพียง 1 คืน เพื่อสังเกตอาการณ์เมื่อสามารถ Feed อาหารได้ผู้ป่วยก็สามารถกลับบ้านได้
PEG แต่ละชิ้นมีอายุวัสดุประมาณ 6 เดือน-1 ปี ขึ้นกับการดูแลสาย และสิ่งที่ feed ของแต่ละคน โดยจะเริ่มเปลี่ยนได้หลังจากใส่ครั้งแรกเกิน 3 เดือนเป็นต้นไป เพราะทางเชื่อมสมบูรณ์แล้ว เพียงใช้อุปกรณ์เปลี่ยนสาย หรือดูดน้ำในบอลลูนออก เอาสายเก่าออก แล้วเปลี่ยนสายใหม่ การเปลี่ยนสายจะใช้เวลาประมาณ 10 นาที สามารถเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
ข้อควรปฏิบัติอื่นๆ ได้แก่
- ควรเปลี่ยนสายทุก 6 เดือน หรือเมื่อสายบวม ตัน แตก หมดสภาพ
- หากไม่ได้ใช้สาย ควรไล่น้ำเปล่า 30-50 cc อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
- ทำความสะอาด ปาก ลิ้น และฟัน ของผู้ป่วยทุกวันถึงแม้จะไม่ได้ให้อาหารทางปาก เพื่ออนามัยที่ดี
- แม้จะใส่ PEG แต่หากผู้ป่วยสามารถกินอาหารทางปากได้ ก็สามารถกลับมาให้กินทางปากตามปกติ