ทำไม "ผู้สูงอายุ" จึงไม่รู้สึกคันหลังจากถูก "ยุงกัด"?

ทำไม "ผู้สูงอายุ" จึงไม่รู้สึกคันหลังจากถูก "ยุงกัด"?

ทำไม "ผู้สูงอายุ" จึงไม่รู้สึกคันหลังจากถูก "ยุงกัด"?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในฤดูร้อนของญี่ปุ่น หากไปนั่งตามใต้ต้นไม้ที่สวนสาธารณะก็มักจะมียุงมากัดได้ง่าย แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ผู้สูงอายุวัยเลยหกสิบกว่าปีจำนวนมากนั่งอยู่ในสวนสาธารณะได้นานโดยไม่รู้สึกคันแม้จะมียุงมากัดซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนญี่ปุ่นเขาสังเกตเห็นในเรื่องนี้แล้วก็ได้ไขข้อสงสัยแล้วด้วย เรามารู้จักกลไกการเกิดอาการคันจากการถูกยุงกัด และหาคำตอบว่าทำไมผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้สึกคันหลังจากโดนยุงกัดกัน

กลไกการเกิดอาการคันเนื่องจากการถูกยุงกัด

เมื่อยุงดูดเลือดคน ยุงจะปล่อยน้ำลายซึ่งมีโปรตีนชนิดหนึ่งออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัวทำให้สามารถดูดเลือดจากคนขึ้นมาได้ง่าย อย่างไรก็ดี ร่างกายคนเราจะตอบสนองต่อโปรตีนในน้ำลายยุงผ่านระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะทำให้บริเวณที่โดนกัดเกิดการบวมแดงและคันขึ้นมา แม้ว่าในที่สุดอาการบวมจะหายไปแต่อาการคันยังคงอยู่จนกว่าภูมิคุ้มกันจะทำให้โปรตีนนั้นสลายไป

คนต่างวัยมีการตอบสนองต่อการถูกยุงกัดได้อย่างไร

คนเรามีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในยุงที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงชีวิต ในเด็กแรกเกิด เมื่อโดนยุงกัด เด็กจะไม่รู้สึกคันหรือมีอาการบวมแดงบริเวณรอยแผลที่โดนกัด เนื่องจากยังไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย อย่างไรก็ดี เมื่อถูกยุงกัดหลายครั้งเข้า ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะค่อยๆ ถูกสร้างขึ้น จนเมื่อเข้าสู่วัยอนุบาลและประถมศึกษา เซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายได้แก่ T เซลล์ (T cells) และแมคโครฟาจ (Macrophage) จะจดจำโปรตีนในน้ำลายยุงและพวกมันจะมารวมกันที่ตำแหน่งที่โดนยุงกัด ก่อให้เกิดการบวมแดงขึ้น เด็กๆ จะไม่รู้สึกคันขึ้นมาในทันทีหลังจากโดนยุงกัด แต่อาการคันจะเกิดขึ้นหลังโดนกัดเป็นเวลาหลัง 1-2 วัน เรียกปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันชนิดนี้ว่าปฏิกิริยาการประวิงเวลา (Delayed reaction) ซึ่งเป็นระบบภูมิคุ้มกันหลังจากยุงกัดที่เกิดในเด็กส่วนใหญ่ อาการบวมแดงและคันจะหายไปในระยะเวลาหลายวันจนถึงสัปดาห์ อย่างไรก็ดี มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรให้เด็กถูกยุงกัดบ่อย เพราะอาจจะทำให้เกิดการแพ้น้ำลายยุงและส่งผลให้เด็กมีอาการบวมคันและอักเสบที่ผิวหนังได้ อีกทั้งยังอาจจะก่อให้เกิดโรคอย่างไข้เลือดออกได้อีกด้วย

เมื่อโตขึ้นมาอีกและถูกยุงกัด ปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันต่อน้ำลายยุงจะเปลี่ยนไป โดยเมื่อถูกยุงกัดร่างกายจะสร้างอิมมูโนโกลบูลินชนิด E หรือ IgE ขึ้นมาต่อต้านโปรตีนในน้ำลายยุง เมื่อ IgE จับกับโปรตีนที่แปลกปลอมจะทำให้เกิดการหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine) และสารอื่นๆ ออกมาจากเซลล์ที่เรียกว่า แมสต์เซลล์ (Mast cells) ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ที่ผิวหนัง แล้วก่อให้เกิดอาการคันและบวมแดงขึ้นมาหลังจากโดนยุงกัดในเวลา 2-3 นาที อาการคันและบวมแดงจะบางเบาลงภายในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง เรียกปฏิกิริยาการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อน้ำลายยุงชนิดนี้ว่า ปฏิกิริยาแบบเฉียบพลัน (Immediated reaction) ทั้งนี้การตอบสนองแบบ Delayed reaction ก็จะยังเกิดขึ้นด้วย ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน ดังนั้นยุงกัดเพียงครั้งเดียวก็ทำให้เกิดอาการบวมคันขึ้นมาทันทีและอาจจะคันหลังจาก 1-2 วันด้วย

เมื่ออายุประมาณ 50-60 ปี และถูกยุงกัดมานับไม่ถ้วน T เซลล์และแมคโครฟาจจะค่อยๆ คุ้นกับโปรตีนในน้ำลายยุงและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเริ่มไม่ค่อยตอบสนองต่อโปรตีนในน้ำลายยุงแล้ว การตอบสนองแบบ Delayed reaction จะค่อยๆ หายไป คงไว้แต่การตอบสนองแบบ Immediated reaction ที่เมื่อถูกยุงกัดแล้วอาการบวมและคันที่เกิดขึ้นจะหายไปภายในเวลาประมาณ 30 นาที

ในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60  ปี การตอบสนองภูมิคุ้มกันแบบ Immediated reaction จะค่อยๆ หายไป แต่ร่างกายจะสร้างอิมมูโนโกลบูลินอีกชนิดขึ้นมาต่อต้านน้ำลายยุง คือ  IgG ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่มีประสิทธิภาพสูงในการจับกับน้ำลายยุงและลดความรุนแรงของโปรตีนในน้ำลายยุงได้เร็วกว่าปฏิกิริยาการตอบสนองของภูมิคุ้มกันแบบ Immediated reaction จึงทำให้ผู้สูงอายุไม่มีอาการบวมและคันจากการถูกยุงกัดนั่นเอง

แม้ว่าเมื่ออายุมากขึ้นอาการบวมคันจากการถูกยุงกัดจะน้อยลงจนทำให้ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นสามารถไปนั่งใต้ต้นไม้ในสวนสาธารณะช่วงฤดูร้อนได้อย่างไร้กังวล แต่สำหรับคนไทยไม่ว่าจะเป็นช่วงไหนของชีวิตเราก็ยังต้องระวังยุงอยู่เสมอ เพราะยุงเป็นพาหะนำโรคอย่างไข้เลือดออกและไข้มาลาเรีย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook