ภาวะ "เปลือกตาหย่อน" อันตรายหรือไม่ แก้ไขได้อย่างไร

ภาวะ "เปลือกตาหย่อน" อันตรายหรือไม่ แก้ไขได้อย่างไร

ภาวะ "เปลือกตาหย่อน" อันตรายหรือไม่ แก้ไขได้อย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นอกจากเปลือกตาหย่อนจะทำให้ดูมีอายุแล้ว ยังอันตรายเพราะบดบังทัศนวิสัยด้วย จะมีวิธีแก้ไขได้อย่างไรบ้าง

สาเหตุของการเกิด “เปลือกตาหย่อน”

อ. พญ. พิมพ์ขวัญ จารุอำพรพรรณ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ภาวะเปลือกตาหย่อน หรือหนังตาหย่อน (dermatochalasis) เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยคือ เกิดในผู้สูงอายุ เนื่องจากหนังตามีความยืดหยุ่นมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ทำให้สามารถหย่อนคล้อยลงมาได้ 

แต่ว่าในกรณีที่เป็นบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ มักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือชาติพันธุ์ เช่น ในคนเอเชียที่มีตาชั้นเดียว และมีการสะสมของไขมันใต้ชั้นหนังตามาก ทำให้ชั้นหนังตาห้อยลงมาต่ำกว่าระดับขนตา และโดยเฉพาะในผู้สูงอายุอาจพบภาวะเปลือกตาตก (blepharoptosis) และคิ้วตก (brow ptosis) ร่วมด้วยได้ ซึ่งต้องแยกสาเหตุเพราะวิธีการรักษาแตกต่างกัน

อันตรายของ “เปลือกตาหย่อน”

นอกจากจะเป็นเรื่องความไม่สวยงามแล้ว การที่เปลือกตาหย่อนคล้อยจนลงมาปิดจนเหมือนหรี่ตาอยู่ตลอดเวลา ทำให้การทัศนวิสัยในการมองเห็นของลดลงด้วย เป็นอันตรายต่อการใช้ชีวิต หรือทำงานที่ต้องใช้สายตาเป็นสำคัญ เช่น ขับรถ เย็บผ้า ทำงานกับเครื่องจักร และอื่นๆ

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเมื่อยล้าหน้าผาก เนื่องจากใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าผากช่วยยกเปลือกตาบนขึ้นตลอดเวลา จนกระทั่งอาจมีรอยย่นที่หน้าผากถาวรได้ ในบางกรณีขนตาอาจถูกหนังตาที่หย่อนกดลงและม้วนเข้าในทำให้กระจกตาตรงตาดำเป็นแผลหรือระคายเคืองได้ หากมีอาการตามนี้ให้รีบพบแพทย์

แก้ไขเปลือกตาหย่อนได้อย่างไร

อ. พญ. พิมพ์ขวัญ ระบุว่า ภาวะเปลือกตาหย่อน สามารถแก้ไขโดยการผ่าตัดเปลือกตา โดยเลือกตัดบริเวณหนังตาที่ห้อยย้อยลงมาออก รอยแผลผ่าตัดจะซ่อนอยู่ตรงบริเวณชั้นตา (ถ้ามีชั้นตา) ระหว่างการผ่าตัดอาจจะมีการนำไขมันส่วนเกินที่ทำให้เปลือกตาอูมออกได้ด้วย ก่อนที่จะเย็บปิดแผลตรงชั้นตาให้สวยงามและมีความเป็นธรรมชาติ อาจทำร่วมกับการผ่าตัดตาทำตาสองชั้นได้ ผู้ป่วยจะมีอาการบวมหรือเขียวช้ำบริเวณที่ผ่าตัดประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาการจะดีขึ้นและกลับมาใกล้เคียงปกติ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน

หลังผ่าตัดควรรับประทานยา หรือทายาตามคำแนะนำของแพทย์ และควรระวังไม่ให้แผลถูกน้ำ เหงื่อหรือสิ่งสกปรกเปรอะเปื้อน เพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อได้ หลังผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์แพทย์จะนัดมาทำการตัดไหม หลังจากนั้นยังไม่ควรขยี้ตาเพราะจะทำให้แผลเปิดได้ รวมถึงมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อติดตามดูอาการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook