Home Isolation กักตัวที่บ้านอย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับ "โควิด-19"

Home Isolation กักตัวที่บ้านอย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับ "โควิด-19"

Home Isolation กักตัวที่บ้านอย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับ "โควิด-19"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อมากขึ้นจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ แนวคิดเรื่องการรักษาตัวเองจากที่บ้าน หรือ Home Isolation รวมถึงการดูแลรักษาใน Hospitel จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพื่อให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรงดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี และเพิ่มความปลอดภัยให้กับตัวเอง คนในครอบครัวและชุมชนได้

  • ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและต้องดูแลตัวเองจากที่บ้าน หรือมีอาการไม่รุนแรงและต้องพักรักษาตัวที่ Hospitel รวมถึงคนทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อ ก็มีความจำเป็นต้องดูแลตัวเองเช่นกัน โดยสามารถทำได้ง่ายๆ ผ่าน Telehealth หรือ Telemedicine ซึ่งเป็นบริการทางการแพทย์ที่ช่วยดูแลสุขภาพทางไกลผ่านเครื่องมือสื่อสาร ที่มีบทบาทเป็นอย่างมากภายหลังสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19

ตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประเทศไทยกำหนดให้ผู้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ทุกคนจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องตามขั้นตอน และเพื่อควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดต่อไปยังบุคคลอื่น ซึ่งผู้ป่วยมีทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ   

แต่เมื่อมีผู้ติดเชื้อมากขึ้นจากสถานการณ์การระบาดรอบใหม่ ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2564) อีกทั้งยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงแต่อย่างใด จนโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามไม่สามารถรองรับผู้ป่วยเข้ารักษาได้ ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อต้องรอเตียง ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต จึงมีการนำแนวคิดเรื่องการรักษาตัวเองจากที่บ้าน หรือ Home Isolation ให้กับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ รวมถึงการดูแลรักษาในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ หรือ Hospitel สำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรง ให้สามารถดูแลรักษาตัวเองได้อย่างถูกวิธี และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังครอบครัวและชุมชนได้

ผู้ป่วยสีเขียว กับการทำ Home Isolation

พญ. ชนัญญา ศรีหะวรรณ์ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า Home Isolation คือ การดูแลตัวเองจากที่บ้าน สามารถทำได้ในผู้ป่วยกลุ่มที่ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการเท่านั้น เพื่อสังเกตอาการและควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้าง ทั้งนี้ เมื่อตรวจพบเชื้อ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินใช้แนวทางการดูแลตัวเองจากที่บ้านอย่างน้อย 14 วัน โดยผู้ติดเชื้อต้องมีอายุน้อยกว่า 60 ปี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกาย > 30 กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว > 90 กก.) หรือเป็นผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยผู้ป่วยต้องยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด โดยต้องอยู่คนเดียว หรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้

  • ห้ามออกจากบ้านและห้ามผู้ใดมาเยี่ยม
  • งดการเข้าใกล้หรือสัมผัสเด็กและผู้สูงอายุอย่างเด็ดขาด
  • แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัว และให้รับประทานอาหารในห้องของตนเอง
  • กรณีไม่สามารถแยกห้องได้ ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด โดยไม่ใช้เครื่องปรับอากาศ และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทตลอดเวลาแทน
  • สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อต้องออกมาจากห้อง
  • ล้างมือด้วยสบู่ หรือทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ และต้องล้างทุกครั้งก่อนหยิบจับของใช้ที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
  • แยกขยะ เนื่องจากขยะของผู้ติดเชื้อถือเป็นขยะติดเชื้อ รวมถึงแยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน
  • แยกใช้ห้องน้ำ หากเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และล้างทำความสะอาดห้องน้ำทุกครั้งที่ใช้เสร็จ
  • สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่คอนโดหรือหอพัก ควรแจ้งนิติบุคคลหรือเจ้าของหอพัก และงดออกจากห้องโดยเด็ดขาด 
  • หากใช้บริการเดลิเวอรี่ ต้องใส่หน้ากากทุกครั้งที่รับของ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับพนักงานส่งของ และล้างมือทุกครั้งหลังจากรับของ
  • สิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะอยู่บ้านคนเดียวหรืออยู่กับครอบครัว ต้องไม่ลืม ‘สวมใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาด และเว้นระยะห่าง’ อยู่เสมอ

แนวทางการดำเนินการของโรงพยาบาล

  • ประเมินความเหมาะสมสำหรับผู้ติดเชื้อ
  • ลงทะเบียนผู้ติดเชื้อโควิด-19
  • มีภาพรังสีทรวงอก (chest X-ray) ในวันแรก (หากทำได้)
  • พิจารณาให้ยาตามดุลยพินิจแพทย์ เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก รวมถึงปรอทวัดไข้และเครื่องวัดค่าออกซิเจนในเลือดสำหรับผู้ติดเชื้อ เพื่อวัดไข้และระดับออกซิเจนด้วยตนเองทุกวัน และรายงานต่อโรงพยาบาลผ่านช่องทางสื่อสารกับผู้ติดเชื้อ หรือการทำ telemedicine ที่มีประสิทธิภาพ
  • วางแผนการติดต่อสื่อสารและจัดระบบส่งต่อผู้ติดเชื้อเข้าสู่โรงพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน หรือมีอาการมากขึ้น

อาการสำหรับผู้ป่วยกักตัวที่บ้านที่ควรรีบติดต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที

  • Oxygen Saturation < 96%
  • อุณหภูมิร่างกาย > 38 องศาเซลเซียส
  • อาการเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก
  • อาการเจ็บ ปวด แน่นหน้าอกอย่างต่อเนื่อง
  • ไม่รู้สึกตัว ปลุกไม่ตื่น ไม่ตอบสนอง
  • เล็บและริมฝีปากซีดลง หรือมีสีคล้ำขึ้น

ผู้ป่วยสีเหลืองอ่อน กับการพักหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ หรือ Hospitel

ผู้ป่วยที่อยู่ใน Hospitel นั้น สามารถรับการดูแลรักษาและติดตามอาการโดยทีมบุคลากรทางการแพทย์ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 วัน โดยการคัดเลือกผู้ป่วยเข้าพักที่ Hospitel นั้น  ผู้ป่วยควรมีอาการตามเกณฑ์ ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  1. ผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง มีค่า SpO2 ≥ 96% ไม่มี/มีโรคร่วมที่ควบคุมได้ และมีอายุไม่เกิน 75 ปี
  2. ผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง มีค่า SpO2 ≥ 94% ไม่มี/มีโรคร่วมที่ควบคุมได้ และมีอายุไม่เกิน 65 ปี
  3. ผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 ไม่มี/มีอาการเล็กน้อย มีค่า SpO2 ≥ 92% ไม่มีโรคร่วม และมีอายุไม่เกิน 60 ปี
  4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีอาการรุนแรงแล้วได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้น ภายหลังอยู่โรงพยาบาล 7-10 วัน และให้พักต่อที่ Hospitel จนครบ 14 วัน
  • สามารถสื่อสารได้รู้เรื่อง ดูแลตนเองได้ ไม่ก้าวร้าว และไม่มีความเสี่ยงทางจิตเวช
  • มีโรคประจำตัวที่ควบคุมได้ และมียารับประทานมาด้วย

กรณีที่มีความจำเป็นเรื่องจำนวนเตียง ให้สถานพยาบาลพิจารณาตามดุลพินิจของแพทย์ โดยพิจารณา ตามความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นประเด็นหลัก

โดย โรคร่วมที่สำคัญ ดังกล่าวข้างต้น มีดังต่อไปนี้

  1. ภาวะอ้วน  (30<ดัชนีมวลกาย กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว 100< กก.)
  2. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) รวมถึงโรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ
  3. โรคหอบหืด
  4. โรคภูมิแพ้รุนแรง
  5. โรคไตเรื้อรัง (CKD)
  6. โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคหัวใจแต่กำเนิด
  7. โรคหลอดเลือดสมอง
  8. โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
  9. ตับแข็ง
  10. ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
  11. Lymphocytes น้อยกว่า 1,000 เซลล์/ลบ.ม.

แนวทางการดำเนินการของโรงพยาบาล

  • ประเมินความเหมาะสมสำหรับผู้ติดเชื้อ
  • ลงทะเบียนผู้ติดเชื้อโควิด-19
  • มีภาพรังสีทรวงอก (chest X-ray) ในวันแรก (หากทำได้)
  • จะมีปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และเครื่องวัดความดันโลหิตให้ผู้ติดเชื้อทุกท่าน รวมถึงเครื่องผลิตออกซิเจนเป็นกรณีไป
  • การให้ยาต่างๆ กับผู้ติดเชื้อ เช่น ยาต้านไวรัส ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
  • จัดเตรียมระบบสื่อสารผ่านช่องทางสื่อสารกับผู้ติดเชื้อ หรือการทำ telemedicine ที่เหมาะสม
  • วางแผนและจัดระบบส่งต่อผู้ติดเชื้อเข้าสู่โรงพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน หรือมีอาการมากขึ้น

**ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2021

เตรียมใจให้พร้อมรับกับการกักตัว

จากรายงานการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่า เชื้อในตัวผู้ติดเชื้อมีความสามารถในการแพร่กระจายสู่บุคคลอื่นในระยะเวลา 14 วันหลังจากติดเชื้อ ซึ่งหลังจาก 14 วันแล้ว โอกาสการแพร่กระจายเชื้อลดลงมาก แต่เชื้อยังคงอยู่ในตัวผู้ติดเชื้อได้ ดังนั้น จึงมีคำแนะนำให้ผู้ป่วยดูอาการตนเองและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะเวลา 14 วัน ตามระยะเวลาของการเกิดการติดเชื้อ

นอกจากความวิตกกังวลจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว การที่ต้องแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นระยะเวลาค่อนข้างนาน อาจเพิ่มความเหงาและความเครียดให้ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น การหาสิ่งผ่อนคลายตนเองจึงมีความจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องดูแลตัวเองจากที่บ้านและ hospitel เช่น

  • การติดต่อสื่อสารกับเพื่อนและครอบครัวผ่านโทรศัพท์และ Social Media อย่างสม่ำเสมอ 
  • การออกกำลังกายง่ายๆ ภายในบริเวณบ้าน เช่น เต้น โยคะ บอดี้เวทเทรนนิ่ง ช่วยลดความเครียด และทำให้มีสุขภาพดี
  • ทำกิจกรรมที่ชอบและสามารถทำคนเดียวได้ เช่น ดูภาพยนตร์ ซีรีส์ ฟังเพลง
  • วางแผนกิจกรรมต่างๆ ภายในระยะเวลา 10-14 วัน
  • เตรียมอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และงดการดื่มแอลกอฮอล์    
  • ทำจิตใจให้แจ่มใส เบิกบาน
  • วางแผนและเตรียมความพร้อมกรณีมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น   

New Normal กับยุค Telehealth

นอกจากผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและต้องดูแลตัวเองจากที่บ้าน บุคคลปกติที่ไม่ติดเชื้อก็มีความจำเป็นต้องดูแลตัวเองด้วยความระมัดระวังเช่นกัน โดยเฉพาะมาตรการ Social Distancing ที่ยังจำเป็นต้องทำอย่างเคร่งครัด ไม่ออกไปยังสถานที่เสี่ยงต่างๆ

Telehealth หรือการดูแลสุขภาพทางไกลผ่านเครื่องมือสื่อสารจึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ผู้มีความกังวลที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เช่น

  • ให้คำปรึกษา ติดตามอาการ และแปลผลตรวจสุขภาพกับแพทย์ผ่านระบบ Virtual Hospital
  • ให้บริการเจาะเลือด ตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีน ส่งยา ทำกายภาพบำบัด ทำแผลและอื่นๆ
  • ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก ด้วยอุปกรณ์วัดค่าสุขภาพ เพื่อลดโรคแทรกซ้อนและการกลับมาเป็นซ้ำ ช่วยให้ผู้ที่ดูแลอุ่นใจได้

สำหรับประเทศไทย Telehealth ถูกนำมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะกับการรักษาพยาบาล (Telemedicine) แต่ส่วนใหญ่เน้นไปที่การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น เนื่องจากยังมีข้อจำกัดหลายๆ ด้าน หนึ่งในข้อจำกัดที่สำคัญ คือ การที่แพทย์ไม่สามารถตรวจร่างกายผู้ป่วยได้เองโดยตรง จึงเป็นเรื่องยากในการวินิจฉัยโรคและตัดสินใจให้การรักษาอย่างถูกวิธี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook