ติดตาม “ข่าว” อย่างไร ไม่ให้ “เครียด” จนเกินไป

ติดตาม “ข่าว” อย่างไร ไม่ให้ “เครียด” จนเกินไป

ติดตาม “ข่าว” อย่างไร ไม่ให้ “เครียด” จนเกินไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ยิ่งตามข่าวก็ยิ่งเครียด มีวิธีรักษาสมดุลอย่างไรไม่ให้ตกข่าวแต่ก็ไม่เครียดจนเกินไปด้วย

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุถึงผลกระทบต่อจิตใจจากการติดตามข่าวสถานการณ์บ้านเมืองเอาไว้ ดังนี้

  1. ความวิตกกังวล

เหตุการณ์ที่หาความแน่นอนไม่ได้ ไม่รู้จะไปทิศทางใด ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงขึ้นในใจ กระตุ้นมโนด้านลบไปได้มาก สร้างความรู้สึกวิตกกังวลได้อย่างมาก หรือในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ถ้าคนใกล้ตัวเป็นคนละฝ่ายกับเรา เราเห็นไม่เหมือนเขา เกรงการทะเลาะเบาะแว้ง เกรงเขาจะไม่โอเคกับเรา ถ้าเห็นต่างกัน จึงเกิดความวิตกกังวลได้

  1. ความรู้สึกซึมเศร้า

เหตุการณ์ที่ยืดเยื้อหาทางออกไม่ได้ กระตุ้นความรู้สึกสิ้นหวังได้มาก ทำให้รู้สึกท้อแท้ หดหู่ได้ ยิ่งถ้าใครมีผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ทางการเมือง เช่น อาชีพการงาน การทำธุรกิจที่ถูกผลกระทบเข้าไปอย่างจัง อาจยิ่งเพิ่มดีกรีความรู้สึกเศร้าและหดหู่ได้มาก เพราะมีผลความอยู่รอดด้วย

  1. ความโกรธ

จากความเกลียดชัง หรือ ความหงุดหงิดรำคาญ ที่มีต่ออีกฝ่ายที่เราไม่เห็นด้วยกับแนวคิด หรือจากความผิดหวังที่มีต่อคนที่เราคาดหวังไว้มาก แล้วเขาไม่เป็นอย่างหวัง เหล่านี้กระตุ้นอารมณ์โกรธ จนเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ทั้งคำพูด การแสดงออก ท่าทางสีหน้า หรือเข้าไปทำร้ายกันจนบาดเจ็บ

  1. ความกลัว

จากความที่เหตุการณ์ไม่มีความแน่นอน มีความรุนแรงเกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ ควบคุมได้ยาก และหาที่พึ่งพิงไม่ได้ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยของการใช้ชีวิต กระตุ้นให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นได้

  1. ความรู้สึกผิด

ด้วยสถานการณ์ที่เร่งเร้า และเต็มไปด้วยความคาดหวังถึงชัยชนะ ต้องการทุกเสียงแสดงพลังประชาชน ในการสนับสนุนพวกตน และต่อต้านฝั่งตรงข้ามทำให้บางคนอาจรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำตามสิ่งที่ฝ่ายตนเรียกร้องให้ออกมา เช่น การชุมนุมเดินขบวน ส่งผลให้รู้สึกเหมือนตนเองทำผิด ต่อเพื่อน ต่อคนรัก ต่อคนในครอบครัว กระทั่งต่อชาติที่ตนไม่ได้ทำอย่างที่ฝ่ายตนคาดหวัง

  1. ความรู้สึกแปลกแยก

ความเห็นต่าง ทำให้หลายคนรู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยว ไม่เป็นที่ยอมรับ ของเพื่อน ของคนรัก ของครองครัว และของสังคมที่ตนอยู่

  1. ความรู้สึกผิดหวัง เจ็บปวด

จากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่เป็นไปอย่างที่ตนวาดหวังไว้ หรือเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าที่ตนคิดไว้

  1. ความรู้สึกเก็บกด

สถานการณ์ที่ต่างฝ่าย ต่างยึดถือความคิดตนเอง อย่างรุนแรง และ แทบไม่ฟังความคิดความเห็นของอีกฝั่ง ทำให้บางคนไม่กล้าแสดงความคิด ความเห็น ความรู้สึกใดๆ ออกมาเกรงจะไม่เข้าพวก เกรงจะไม่เป็นที่รักและยอมรับของคนใกล้ตัว คนในสังคมที่ตนอยู่ เลยต้องเก็บกดความรู้สึก ความคิดเห็นและความปรารถนาของตนเองลงไป

  1. ความรู้สึกเป็นฮีโร่

เกิดจากสถานการณ์ที่กำลังย่ำแย่ กระตุ้นความรู้สึกว่าเราต้องเขากู้สถานการณ์ เพื่อผดุงความถูกต้อง ความยุติธรรมเพื่อให้ทุกอย่างออกมาตามอุดมคติ เพราะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันแย่ และต้องการคนเข้ามากู้วิกฤติ

  1. ความรู้สึกฮึกเหิม

สถานการณ์ที่กระตุ้นความรู้สึกรักชาติ หรือกระตุ้นความรู้สึก “พวกเราร่วมกัน ต่อต้านพวกมัน” ทำให้เกิดความรู้สึกฮึกเหิมได้มาก การเจอคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน รักสิ่งเดียวกัน เกลียดสิ่งเดียว เป็นความรู้สึกหลอมรวม รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน รู้สึกถึงการยอมรับที่มีต่อกันและกัน ทำให้เกิดความรู้สึกเติมเต็มและอิ่มอกอิ่มใจได้อย่างมาก

จากผลกระทบด้านจิตใจดังที่ได้กล่าวมา มีทั้งความรู้สึกด้านลบ และความรู้สึกด้านบวก แต่ผลทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อจิตใจ คือ ทำให้จิตใจขาดความสงบสุข เกิดความปั่นป่วนภายในใจได้ตลอดเวลา ทั้งตัวเราเองและคนรอบข้าง

ติดตาม “ข่าว” อย่างไร ไม่ให้ “เครียด” จนเกินไป

  1. เลือกหัวข้อข่าวที่สนใจจริงๆ เท่านั้น

อีกหนึ่งความกังวลของคนรุ่นใหม่ คือการกลัว “ตกข่าว” จึงพยายามตามข่าวในกระแสที่กำลังเป็นประเด็นให้ได้ครบทุกเรื่องอย่างละเอียด กลัวคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง อันที่จริงแล้วการรับทราบถึงข่าวในทุกๆ เรื่องเป็นสิ่งที่ดี แต่เราไม่มีความจำเป็นจะต้องโฟกัสกับทุกข่าว บางข่าวเราสามารถอ่านสรุปใจความสั้นๆ แล้วไม่จำเป็นต้องตามเรื่องต่อ หรือรับทราบถึงใจความสำคัญของข่าว และรอติดตามความเคลื่อนไหวว่าข่าวไปถึงไหนแล้ว จบเรื่องหรือยังอยู่ห่างๆ ก็เพียงพอ แล้วเอาเวลาไปสนใจกับข่าวที่เราสนใจจริงๆ เพียงไม่กี่หัวข้อพอ

  1. จำกัดเวลาในการติดตามข่าว

เพื่อป้องกันการใช้เวลาอยู่ข่าวมากเกินไปจนเสียสุขภาพจิต ควรจำกัดเวลาให้กับตัวเองในการเสพจข่าวด้วย เช่น คนที่รับข่าวจากหน้าจอทีวี อาจจะใช้เวลาติดตามข่าวแค่ในช่วงที่มีรายการข่าวในตอนเช้า กลางวัน หรือเย็น (ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งพอ) ไม่ควรติดตามข่าวเป็นเวลาเกิน 3 ชั่วโมงต่อวัน เพราะอาจทำให้เครียดจนเกินไป

  1. ใช้ชีวิตตามปกติ

ไม่แบ่งเวลามาติดตามข่าวจนลดเวลาในการทำกิจวัตรประจำวันส่วนอื่นๆ จนมากเกินไป เช่น ตามข่าวจนไม่ได้เรียน ไม่ได้อ่านหนังสือ ไม่ได้ทำงาน หรือไม่ได้นอนหลับพักผ่อน ควรต้องรักษาเวลาในส่วนอื่นๆ ของชีวิตเอาไว้ให้เหมือนเดิม เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง ทำงานอดิเรกอื่นๆ ตามปกติ

  1. ยอมรับความเห็นต่าง

อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้เราเครียดหรือโกรธ คือการที่เราได้รับฟังความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันกับเรา จนทำให้เราไม่เข้าใจเขาและรู้สึกโกรธที่เขาไม่คิดไม่พูดตามที่เราอยากให้เขาเป็นแบบนั้น เราควรยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง ควรปล่อยวางและแสดงออกทางความคิดเห็นด้วยความเคารพและด้วยวาจาสุภาพเสมอ และเมื่อรู้สึกว่าไม่ได้มีอะไรที่ดีกว่าเดิมเกิดขึ้น หรืออีกฝ่ายไม่มีท่าทีจะยอมฟังความคิดเห็นของเรา ควรหยุดและถอยห่างออกมาก่อน อย่าต่อความยาวสาวความยืดเด็ดขาด

  1. ผ่อนคลายความเครียดด้วยกิจกรรมที่ชอบอื่นๆ

เมื่อรู้สึกเครียดจนปวดหัว สมองตื้อ เริ่มไม่ไหว ควรหยุดอ่านข่าวแล้วผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง คุยเรื่องอื่นๆ กับเพื่อน หาอะไรกิน อาบน้ำ อ่านหนังสือ ฯลฯ

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ

คุณอาจติดตามข่าวจริงจังจนเสียเวลาในการนอนหลับพักผ่อนไป เมื่อเรานอนไม่พอ จะส่งผลถึงสุขภาพจิตได้เช่นกัน 

ดังนั้นอ่านข่าว ติดตามข่าวอย่างพอเหมาะ หยุดเมื่อถึงเวลาที่ควรหยุด เมื่อรู้ตัวว่าเครียดให้เปลี่ยนมาคิดเรื่องอื่น หากิจกรรมที่ชอบทำเพื่อให้หยุดคิดถึงเรื่องข่าวนั้น นอนหลักพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเตรียมติดตามข่าวในเช้าวันใหม่อีกครั้งจะดีกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook