ทำไมฉีด “วัคซีน” แล้ว ยังติด “โควิด-19” ได้อีก?

ทำไมฉีด “วัคซีน” แล้ว ยังติด “โควิด-19” ได้อีก?

ทำไมฉีด “วัคซีน” แล้ว ยังติด “โควิด-19” ได้อีก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนอาจเคยมีประสบการณ์ หรือเคยได้ยินว่า ถึงจะฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังเสี่ยงติดโควิด-19 ได้อยู่ จริงหรือไม่ แล้วเราจะฉีดวัคซีนกันไปทำไม

อ. พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ละชนิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแตกต่างกัน ตั้งแต่ร้อยละ 50.3 เป็นต้นไป เช่น ซิโนแวค ซึ่งเป็นชนิดเชื้อตาย หรือ ในวัคซีนของไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ซึ่งเป็นชนิด mRNA ที่ป้องกันได้มากกว่าร้อยละ 90

ภูมิคุ้มกันค่อยๆ เพิ่มไม่เท่ากัน

ระยะเวลาหลังจากที่ได้รับวัคซีน โดยทั่วไปต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังจากที่ได้รับเข็มสุดท้ายตามกำหนด จึงจะเริ่มมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพียงพอสำหรับป้องกันการติดเชื้อ บางคนรับวัคซีนเพียงเข็มเดียว ทั้งที่วัคซีนตัวนั้นกำหนดให้รับสองเข็ม แต่ไปรับเชื้อขึ้นมาก่อน ทำให้ร่างกายยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ โดยมีรายงานจาก Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ว่าวัคซีนของไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา มีประสิทธิภาพป้องกันได้ร้อยละ 80 หลังจากเข็มแรก ขณะที่ถ้าครบสองเข็มจะป้องกันได้ร้อยละ 90

วัคซีนแต่ละชนิดอาจมีระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันขึ้นและเพียงพอสำหรับการป้องกันที่แตกต่างกันไป ทำให้บางรายต้องมีการฉีดวัคซีนซ้ำเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้อยู่ได้ยาวนานขึ้น

วัคซีนที่ฉีด อาจไม่ครอบคลุมสายพันธุ์ใหม่

ในอีกมุมหนึ่ง คือการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้วัคซีนบางชนิดซึ่งใช้เชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่ได้กลายพันธุ์ในการทำวัคซีน ทำให้การป้องกันเชื้อโควิด-19 บางสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์อังกฤษ หรือ สายพันธุ์อินเดีย ไม่ได้ประสิทธิภาพ

วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด ฉีดเข็มสองตามที่นัดไว้ ระหว่างรอฉีดเข็มที่สองยังคงระมัดระวังตัวเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่างจากคนอื่น กินร้อนช้อนตัวเอง หลีกเลี่ยงการไปแหล่งชุมชนคนเยอะๆ หากสัมผัสสิ่งของสาธารณะ ควรล้างมือหรือใส้เจล/สเปรย์แอลกอฮอล์ทันทีก่อนนำมือมาสัมผัสกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย หรือหยิบอาหารเข้าปาก ออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เท่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดโควิด-19 ได้ ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนชนิดใดก็ตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook