4 สัญญาณอันตราย “ความดันโลหิตสูง” พร้อมวิธีลดความดันที่ได้ผล

4 สัญญาณอันตราย “ความดันโลหิตสูง” พร้อมวิธีลดความดันที่ได้ผล

4 สัญญาณอันตราย “ความดันโลหิตสูง” พร้อมวิธีลดความดันที่ได้ผล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม ช่วยลดความเสี่ยง ห่างไกลโรคความดันโลหิตสูงได้

โรคความดันโลหิตสูง อันตรายเงียบ

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคความดันโลหิตสูง ได้ชื่อว่าเป็นเพชฌฆาตแห่งความเงียบ เนื่องจากส่วนใหญ่มักไม่มีอาการหรืออาการแสดงให้เห็น แต่มักตรวจพบโดยบังเอิญ 

สัญญาณอันตราย “ความดันโลหิตสูง”

ในกรณีที่มีความดันโลหิตสูงมากผู้ป่วยอาจจะมีอาการที่แสดงให้เห็นได้ ดังนี้

  1. ปวด หรือมึนศีรษะ บริเวณท้ายทอย 
  2. วิงเวียนศีรษะ
  3. แน่นหน้าอก 
  4. คลื่นไส้ อาเจียน 

อันตรายของความดันโลหิตสูง หากไม่รีบรักษา

ผู้มีความดันโลหิตสูงเรื้อรังที่ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะสำคัญ เช่น 

  • กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว 
  • หลอดเลือดแดงแข็ง 
  • จอประสาทตาเสื่อม 
  • ไตเสื่อม 
  • โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอย่างยิ่ง 
  • เสี่ยงต่อการเกิดอัมพาต 
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 
  • ไตวาย
  • โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตัน
  • หัวใจล้มเหลว

หากมีภาวะความดันโลหิตสูงนานๆ ไม่ได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอและถูกต้องเหมาะสม หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น กล้ามเนื้อของหัวใจจะหนาขึ้น หัวใจจะโตขึ้น อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดห้องบนเต้นพริ้ว (Atrial Fibrillation) หรือเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ดังนั้น เราควรให้ความสำคัญกับการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง การป้องกันและการรักษา เพื่อที่จะสามารถชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

ความดันโลหิตเท่าไร จึงเรียกได้ว่าความดันโลหิตสูง

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคความดันโลหิตสูง เป็นภาวะโรคที่ตรวจพบว่าค่าความดันโลหิตอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ คือ มีค่าความดันตัวบน (systolic: ค่าความดันเลือดในขณะที่หลอดเลือดหัวใจบีบตัว) สูงกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และความดันตัวล่าง (diastolic : ค่าความดันเลือดในขณะที่หลอดเลือดหัวใจคลายตัว) สูงกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท 

ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงมักจะพบร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ของกลุ่มอาการผิดปกติทางเมตาบอลิซึม เช่น 

  • ไขมันในเลือดสูงหรือระดับน้ำตาลในเลือดสูง 
  • ขาดการออกกำลังกาย 
  • โรคอ้วน 
  • มีภาวะเครียดเรื้อรัง 
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
  • สูบบุหรี่ 
  • รับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัดเป็นประจำ

นอกจากนี้ โรคความดันโลหิตสูงอาจมีสาเหตุมาจากภาวะไตวาย เนื้องอกของต่อมหมวกไต โรคของต่อมไทรอยด์หรือต่อมพาราไทรอยด์ โรคทางเดินหายใจถูกอุดกลั้นขณะนอนหลับหรือการใช้ฮอร์โมนบางชนิด 

วิธีรักษาโรคความดันโลหิตสูง

ในการรักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรมีการประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆที่เป็นผลมาจากความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานาน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนา ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ไตเสื่อมหรือมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ และจอประสาทตาเสื่อมจากความดันโลหิตสูง 

ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูงเราควรดูแลตนเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ชีวิตให้เหมาะสม โดยการใส่ใจ 3 อ. คือ

  1. อ.อาหาร กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพหรือ DASH Diet (Dietary Approaches to Stop Hypertension Diet) คือ ลดการบริโภคอาหารที่มีเกลือโซเดียม ไขมันอิ่มตัว ไขมันรวมและคอเรสเตอรอลลง และเพิ่มการรับประทานที่มีใยอาหาร โปรตีน แคลเซียม แร่ธาตุต่างๆอย่างโปแตสเซียมและแมกนีเซียม ได้แก่ ผัก ถั่ว ผลไม้ ธัญพืชที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสี (Whole Grains) ปลา ไขมันไม่อิ่มตัว และลดการบริโภคเนื้อแดง งดการรับประทานน้ำหวานและน้ำอัดลม
  2. อ.ออกกำลังกาย ลดเวลานั่ง เพิ่มเวลายืน ยืดเวลาเดิน ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ให้หัวใจ ปอด ระบบหมุนเวียนโลหิตแข็งแรง ควบคุมน้ำหนักตัว และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 ครั้ง/สัปดาห์
  3. อ.อารมณ์ ทำอารมณ์ให้แจ่มใส ไม่เครียด

นอกจากนี้ ควรงดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ฉะนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใส่ใจสุขภาพ รู้จักออกกำลังกายให้เหมาะสม และรู้จักเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีเป็นหนทางสู่การมีสุขภาพดี ย่อมช่วยให้ตัวเราห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook