แนะ "สมุนไพรไทย" กินก่อน-ระหว่าง-หลังติดเชื้อโควิด-19

แนะ "สมุนไพรไทย" กินก่อน-ระหว่าง-หลังติดเชื้อโควิด-19

แนะ "สมุนไพรไทย" กินก่อน-ระหว่าง-หลังติดเชื้อโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนําพืชผักสมุนไพร ตำรับยาไทย เมนูอาหาร และเครื่องดื่มสมุนไพรที่ควรรับประทานเพื่อเพิ่มภูมิต้านทานร่างกายให้แข็งแรง ในสถานการณ์โควิด-19 

กินสมุนไพรไทยอย่างไร ในช่วงโควิด-19 ระบาด

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ หากร่างกายได้รับเชื้อโรคต่างๆ หรือเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดี เม็ดเลือดขาวก็จะต่อสู้กับเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี การเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกายแข็งแรงจึงเป็นโอกาสรอดพ้นจากสถานการณ์เลวร้ายนี้ไปได้ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย ขอแนะนําสมุนไพรที่เหมาะจะรับประทานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้แบ่งสมุนไพรออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 

กลุ่มที่ 1 สมุนไพรสําหรับผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19

มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านไวรัส ลดอักเสบ ประกอบด้วย 

  • กระชาย

รสเผ็ดร้อนขม เหง้าและกระโปกกระชาย ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด บำรุงกําลัง ช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ บำรุงกำหนัด มีสรรพคุณคล้ายกับโสม บางทีหมอแผนโบราณมักจะเรียกว่าโสมไทย นิยมกินเป็นอาหาร และทําเป็นเครื่องดื่ม

  • ขิง

รสเผ็ดร้อน แก้ท้องอืดเฟ้อ เสียดท้อง อาหารไม่ย่อย บรรเทาอาการไอ ระคายคอ ขับเสมหะ

  • ขมิ้นชัน

รสเผ็ดร้อนฝาด บำรุงธาตุ ฟอกโลหิต แก้พิษโลหิต แก้เสมหะ แก้ไข้ทั้งปวง แก้ผดผื่นคัน แก้โรคผิวหนัง

  • พลูคาว/ผักคาวตอง

รสเผ็ด แต่ออกฤทธิ์เป็นยาเย็น ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ปัสสาวะ 

  • หม่อน

ใบ รสจืดเย็น เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ ไข้หวัด ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายนน้ำ และเป็นยาช่วยขับลมร้อน

ผล รสเปรี้ยวหวานเย็น เป็นยาเย็นยาระบายอ่อนๆ แก้ธาตุไม่ปกติ บรรเทาอาการกระหายนน้ำ ใช้แก้ไข้ แก้เจ็บคอ ทําให้ชุ่มคอ บำรุงไต ดับร้อน ช่วยย่อย และเพื่อความสดชื่น 

  • หอมแกง

รสหอมปร่าใช้หัวแก่จัดๆ กินเป็นยาขับลมในลำไส้  แก้ปวดท้อง  บำรุงธาตุ  แก้หวัดคัดจมูก  ใช้หัวตำสุมหัวเด็กแก้หวัด แก้ไข้ลดความร้อน แก้ไอ

  • กระเทียม

รสเผ็ดร้อนฉุน  แก้ลมจุกเสียด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ลดไขมัน รักษาปอด แก้ปอดพิการ บำรุงธาตุ แก้ไอ แก้ไข้ ไข้หวัดคัดจมูก ไข้เพื่อเสมหะ

  • ตะไคร้

รสหอมปร่า ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด แก้อาการเกร็ง ขับเหงื่อ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้อาการขัดเบา ทําให้เจริญอาหาร ลดความดันโลหิต แก้เบื่ออาหาร บำรุงไฟธาตุ แก้กระษัย

  • กะเพรา

รสเผ็ดร้อนฉุน แก้ปวดท้อง ท้องขึ้นจุกเสียด ขับผายลม ขับเหงื่อ แก้ไข้ ขับเสมหะ ขับลม แก้ท้องเสีย บำรุงธาตุให้เป็นปกติ

กลุ่มที่ 2 สมุนไพรที่ใช้กับคนไข้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ หรือ มีอาการรุนแรงน้อย

  • ฟ้าทะลายโจร

เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านไวรัส ยับยั้งกระบวนการแบ่งตัวของไวรัส ลดอักเสบบรรเทาการไข้ ไอ เจ็บคอ 

  • ยาห้าราก

กระทุ้งพิษไข้ บรรเทาอาการไข้ยาจันทน์ลีลาแก้ไข้ตัวร้อน

  • ยาประสะจันทน์แดง

แก้ไข้ตัวร้อน (ไข้พิษ) แก้ร้อนในกระหายน้ำยาเขียวหอมแก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ

  • ยาประสะมะแว้ง

บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ทําให้ชุ่มคอ

  • ยาตรีผลา

เสริมภูมิคุ้มกัน แก้ไอ ละลาย เสมหะ ช่วยระบาย

นอกจากนี้ยังมีตํารับยาที่ช่วยดูแลฟื้นฟูหลังไข้ แก้ลมปลายไข้ (หลังฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียนเบื่ออาหาร ท้องอืด และอ่อนเพลีย) ได้แก่ 

  • ยาหอมนวโกฐ

แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ 

ตํารับยาที่ช่วยปรับธาตุ บํารุงธาตุ ได้แก่ 

  • ยาธาตุบรรจบ

บรรเทาอาการอุจจาระธาตุพิการ

  • มันทธาตุ

แก้ธาตุไม่ปกติ ท้องอืด เฟ้อ

  • ตรีเกสรมาศ

แก้อ่อนเพลีย ปรับธาตุในผู้ที่เพิ่งฟื้นจากการเจ็บป่วย เช่น ไข้ ท้องเสีย

ก่อนกินยาสมุนไพรไทย ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์แผนไทยเท่านั้น

ทั้งนี้การใช้ตำรับยาสมุนไพรกับผู้ป่วยโควิด-19 ควรได้รับการรักษาหรือต้องได้รับคำแนะนําโดยแพทย์แผนไทยอย่างใกล้ชิด ไม่ควรซื้อยามารับประทานยาเองโดยเด็ดขาด

เมนูอาหาร ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค

สําหรับเมนูอาหาร เครื่องดื่มสมุนไพรที่ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานร่างกาย ขอแนะนํา

  • เมี่ยง

เช่น เมี่ยงคำเมี่ยงปลาทู และเมี่ยงผักสด/เมี่ยงปลาเผา

  • น้ำพริกแบบไทยๆ

เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง น้ำพริกปลาทู น้ำพริกมะขามป้อม พร้อมผักแกล้ม ยอดมะยม ยอดสะเดา มะระขี้นก ผักแพว ขมิ้น แตงกวา พลูคาว บัวบก ผักแพว ผักเพกา ผักเซียงดา ฝักมะรุม (วิตามินซีสูง ต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกัน)

  • ต้มไก่บ้านใส่ใบหม่อน

ในส่วนเครื่องดื่มขอแนะนํา น้ำขิง น้ำกระชาย น้ำตรีผลา น้ำมะขามป้อม น้ำฝรั่ง น้ำลูกหม่อน ชาหม่อนชาตะไคร้ ชาใบเตย ชาใบกะเพรา เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook