เข้าใจผู้ป่วย "ไบโพล่าร์" ไม่ใช่คนอันตราย อยู่ร่วมกันได้ แค่ต้องรักษาให้ไว

เข้าใจผู้ป่วย "ไบโพล่าร์" ไม่ใช่คนอันตราย อยู่ร่วมกันได้ แค่ต้องรักษาให้ไว

เข้าใจผู้ป่วย "ไบโพล่าร์" ไม่ใช่คนอันตราย อยู่ร่วมกันได้ แค่ต้องรักษาให้ไว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงที่ทุกคนถูกขอความร่วมมือให้กักตัวเอง เว้นระยะอยู่ห่างจากสังคม จึงเป็นธรรมดาที่คนๆ หนึ่งต้องมาเจอกับความรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรืออาจรวมถึงสภาพจิตใจที่ขึ้นลงควบคุมไม่ได้

ซ้ำร้ายกว่านั้นในอีกมุม สภาพสังคมที่เลวร้ายนี้ยังส่งผลกระทบกับ ‘ผู้ที่ไม่สามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์’ ได้อีกด้วย ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เราอาจได้เห็นความสูญเสียที่ไม่คาดคิด เกิดกับผู้ป่วย ‘โรคไบโพล่าร์’ (Bipolar Disorder) ขึ้นอีกครั้งก็เป็นได้

เรื่องราวความสูญเสียที่เรารับรู้ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์หรือจอโทรทัศน์ของผู้เป็นโรคไบโพล่าร์ แทบทุกเหตุการณ์ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของพวกเขา แต่ส่วนใหญ่เกิดจากสภาพอารมณ์ที่แปรปรวนอยู่ตลอด ควบคุมไม่ได้ จนนำมาซึ่งการทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น ในช่วงที่อาการกำเริบขึ้น

แพทย์หญิงพรทิพย์ ศรีโสภิต ผู้ชำนาญการด้านจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า อาการแสดงของโรคไบโพล่าร์เป็นสิ่งที่คนรอบข้างยากจะเข้าใจ หลายครั้งมีโอกาสที่จะกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้ง และตามมาซึ่งความรุนแรงได้ ซึ่งสิ่งที่ยากจะคาดเดาคือเราไม่รู้ว่าความรุนแรงนั้นจะออกมาในรูปแบบไหน “ผู้ป่วยเป็นผู้กระทำ หรือผู้ป่วยถูกกระทำ” ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่คนรอบข้าง ต้องทำความเข้าใจกับธรรมชาติของโรคนี้ให้ดี

โรคไบโพล่าร์ เป็นอย่างไร?

ในหลายๆ ครั้ง ผู้คนมักเข้าใจว่าโรคไบโพล่าร์และโรคซึมเศร้า คืออาการป่วยแบบเดียวกัน แต่ความเข้าใจนั้นไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด โรคไบโพล่าร์ หรือ Bipolar Disorder หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว จัดอยู่ในกลุ่มของโรคความผิดปกติทางอารมณ์ เช่นเดียวกับโรคซึมเศร้า แต่ในขณะที่โรคซึมเศร้า จะมีลักษณะอาการที่ชัดเจนของอารมณ์ตกหรืออารมณ์เศร้าเพียงอย่างเดียว

ลักษณะอาการของโรคไบโพล่าร์

โรคไบโพล่าร์ จะแตกต่างออกไป คือสามารถแสดงอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ 2 ขั้ว ขั้วแรกคือขั้วของช่วง “อารมณ์ขึ้น” ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ครึกครื้นหรือหงุดหงิดมากเกินกว่าปกติ และอีกขั้วหนึ่งคือขั้วของช่วง “อารมณ์ตก” หรืออารมณ์เศร้าแบบเดียวกันกับโรคซึมเศร้านั่นเอง

กล่าวง่ายๆ คือผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างฉับพลัน อยู่ๆ ก็ร่าเริงสนุกสนาน เปลี่ยนเป็นความเศร้าโดยไม่มีเหตุผล แล้วกลับกลายเป็นความหงุดหงิด โกรธต่อสิ่งรอบข้าง กลไกของโรคที่ซับซ้อนนี้ จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หน้าที่การงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไปจนถึงการดูแลตัวเอง และในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด คือบทสรุปของความรุนแรงที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

วิธีรักษาโรคไบโพล่าร์

โรคไบโพล่าร์เองก็เป็นอาการป่วยอย่างหนึ่งที่สามารถรักษาให้หายได้ ไม่ว่าจะทั้งด้วยการรักษาจากแพทย์ หรือการให้ยาอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดอาการกำเริบ สิ่งสำคัญคือคนรอบข้าง ต้องหมั่นสังเกตอาการหรือความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เล็กๆ น้อยๆ ของผู้ป่วย และตัวผู้ป่วยต้องเข้าใจธรรมชาติของโรค ไม่มีทัศนคติติดลบต่ออาการทางจิตจนไม่กล้าเข้ารับการรักษา

“การรักษาที่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์เข้าใจในตัวเอง ควบคุมและสังเกตอาการตัวเองได้ดีขึ้น จนทำให้มีสภาพอารมณ์มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น สามารถเข้าใจสภาวะและผู้คนรอบข้าง จนสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติในที่สุด”

ในสถานการณ์ที่ซับซ้อนนี้ อาจทำให้ผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์หรือรวมถึงคนทั่วไป จะควบคุมอารมณ์ตัวเองได้อย่างยากลำบากกว่าเดิม แต่อย่างน้อยเราก็เชื่อว่าในวันหนึ่งที่ชีวิตกลับสู่สภาวะปกติ อารมณ์ที่แปรปรวนของทุกคนก็สามารถกลับมามั่นคงได้ดังเดิมเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook