โควิด-19 VS พังผืดในปอด อาการใกล้เคียงกันจนอาจเข้าใจผิด
ทั้งโควิด-19 และโรคพังผืดในปอด มีอาการหลายอย่างใกล้เคียงกัน เราจะจำแนกทั้งสองโรคนี้ได้อย่างไร
สมาคมอุรเวชช์ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มความท้าทายให้แก่แพทย์ในการวินิจฉัยโรคพังผืดในปอด หรือ Fibrotic-ILD (Fibrotic-Interstitial Lung Disease) เนื่องจากอาการคล้ายโรคปอดและระบบหายใจอื่นๆ ที่แพทย์คุ้นเคย และใกล้เคียงกับอาการโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน ทั้งอาการหอบเหนื่อย ไอแห้ง จากการอ่อนเพลียนั้น อาจส่งผลให้เกิดความไม่ชัดเจนและลำบากในการคัดกรองวินิจฉัยโรค ทำให้อาการลุกลามรุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น แพทย์และผู้ป่วยจึงควรมีความเข้าใจในการสังเกตสัญญาณโรคเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันท่วงที
โรคพังผืดในปอด คืออะไร?
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “โรคพังผืดในปอด หรือ Fibrotic-ILD (Fibrotic-Interstitial Lung Disease) เป็นกลุ่มโรคที่เกิดการอักเสบตรงเนื้อเยื่อในปอด เป็นโรคหายากที่ยังไม่ทราบสาเหตุ อีกทั้งข้อมูลทางวิชาการยังอยู่ในวงจำกัด ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและการรักษาแบบสหวิชาชีพ
อันตรายของโรคพังผืดในปอด
โรคพังผืดในปอดมีความรุนแรงเทียบเท่ากับโรคมะเร็ง หากไม่ได้รับการรักษาจะมีชีวิตอยู่ต่อได้เพียง 3.5 ปี แต่หากได้รับการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก็จะสามารถบรรเทาอาการของโรคและมีชีวิตได้นานขึ้น ดังนั้นหากมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพังผืดในปอด จะช่วยให้แพทย์ช่วยคัดกรองโรคได้รวดเร็ว และรักษาโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ขณะเดียวกัน คนไข้จำเป็นต้องมีความเข้าใจโรคเพื่อให้สามารถบอกถึงสัญญาณอันตรายได้เร็วที่สุดเช่นกัน
โควิด-19 VS พังผืดในปอด
ผู้ป่วยโรคพังผืดในปอด มักได้รับการวินิจฉัยที่สายเกินไป เนื่องจากมีอาการคล้ายกับโรคอื่นที่แพทย์คุ้นเคย เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ในเพศชาย ภาวะหัวใจล้มเหลวในเพศหญิง วัณโรค มะเร็งปอด โรคหัวใจ นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ยิ่งเพิ่มความท้าทายในการวินิจฉัยโรค เนื่องจากมีอาการคล้ายผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งอาการหอบเหนื่อย ไอแห้ง และการอักเสบที่ปอด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยต้องสังเกตอาการตัวเองให้ดีเพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง
อาการของโรคพังผืดในปอด
อาการโรคที่บ่งชี้ว่าอาจเข้าข่ายเป็นโรคพังผืดในปอด ได้แก่
- มีอาการไอ
- หอบเหนื่อยมานานกว่า 2 เดือน โดยหาสาเหตุอื่นไม่พบ และไม่เคยสูบบุหรี่
- แพทย์ฟังเสียงหายใจผิดปกติที่ชายปอดทั้ง 2 ข้าง คล้ายเสียงลอกแถบตีนตุ๊กแก
- ออกซิเจนปลายนิ้วต่ำเมื่อออกกำลัง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ปอดถูกทำร้ายอย่างรุนแรง อาจเสี่ยงต่อภาวะ โรคพังผืดในปอดด้วยเช่นกัน
สมาคมอุรเวชช์ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับคณะทำงานโรคปอดอินเตอร์สติเชียลและโรคปอดจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม (ILD assembly) จัดสัมมนาสดบนเฟซบุ๊กเพจ รู้ไว้ไอแอลดี วันเสาร์ที่ 18 กันยายน 2564 เวลา 11.00-12.30 น. เพื่อศึกษาและซักถามข้อมูลโรคพังผืดในปอด อาการโรค ข้อปฏิบัติและสังเกตอาการ และสอบถามสดกับอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ รศ.นพ.กมล แก้วกิติณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการโรคปอดอินเตอร์สติเชียลและโรคปอดจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม และ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธ์ อุปนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์