“ความดันโลหิตต่ำ” ดีกว่า “ความดันโลหิตสูง” จริงหรือ?

“ความดันโลหิตต่ำ” ดีกว่า “ความดันโลหิตสูง” จริงหรือ?

“ความดันโลหิตต่ำ” ดีกว่า “ความดันโลหิตสูง” จริงหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

  • ค่าความดันโลหิตที่สูงกว่า 180/110 มิลลิเมตรปรอท เป็นสัญญาณของความเสียหายของอวัยวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ปวดหลัง ชา/อ่อนแรง การมองเห็นเปลี่ยนไปหรือพูดลำบาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

  • ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หากปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่ในระดับเดิมนานๆ มีโอกาสเป็นโรคหัวใจตีบตันเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า และโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน 7 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่มีค่าความดันปกติ
  • ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนท่า Orthostatic Hypotension อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและเป็นลม เนื่องจากสมองได้รับเลือดไม่เพียงพอ และบ่งบอกถึงปัญหาและอาการร้ายแรงอาจถึงแก่ชีวิตได้

ผู้ที่มีค่า “ความดันโลหิตต่ำ” มักจะคิดว่ามีสุขภาพดี ไม่มีปัญหา แต่ในความจริงแล้วทั้งความดันโลหิตสูงและความดันโลหิตต่ำ  ต่างมีความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน ที่สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่อันตรายได้ในที่สุด

ความดันโลหิตคืออะไร

พญ. กานต์ชนา อัศวธิตานนท์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุว่า ความดันโลหิต คือ ค่าความดันของกระแสเลือดที่ส่งแรงกระทบกับผนังหลอดเลือดแดง เกิดจากกระบวนการของหัวใจในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย โดยความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากค่าความดันโลหิต คือ ความดันโลหิตสูง และความดันโลหิตต่ำ ค่าความดันโลหิต เป็นหน่วยมิลลิเมตรปรอท (mmHg) โดยวัดได้ 2 ค่า ได้แก่

  • ความดันโลหิตค่าบน  คือ แรงดันโลหิตที่เกิดจากการบีบตัวของหัวใจเต็มที่  
  • ความดันโลหิตค่าล่าง คือ แรงดันโลหิตที่เกิดจากการคลายตัวของหัวใจ

การเตรียมตัวเพื่อวัดความดันโลหิต

  • ก่อนวัดความดันโลหิต 30 นาที  ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือออกกำลังกายอย่างหนัก รวมถึงไม่อยู่ในภาวะโกรธ วิตกกังวล หรือเครียด  
  • ควรนั่งพักก่อนทำการตรวจวัดความดันประมาณ 5-15 นาที  นั่งหลังพิงพนักเก้าอี้  เท้า 2 ข้าง วางราบกับพื้น  ห้ามนั่งไขว่ห้าง 
  • ไม่ควรพูดคุย ขณะที่กำลังวัดความดัน
  • วัดความดันโลหิต วันละ 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้าและช่วงเย็น โดยแต่ละช่วงเวลาให้วัดอย่างน้อย 2 ครั้ง  แต่ละครั้งห่างกัน 1 นาที  ควรวัดติดต่อกัน 7 วัน  หรืออย่างน้อย 3 วัน 

ความดันโลหิตสูง (Hypertension)

ค่าปกติของความดันโลหิต โดยเฉลี่ยคือประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท โดยวัดจากการบีบตัวและคลายตัวของหัวใจ ความดันโลหิตสูง หมายถึง ภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงความดันในหลอดเลือดที่สูงขึ้น  โดยหากวัดได้ค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไปถือว่ามีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูง  อย่างไรก็ตาม ความดันโลหิตมีความแตกต่างกันในแต่ละในช่วงวัย

ปัจจุบัน ค่าความดันโลหิตที่ยอมรับได้ในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี  ควรตํ่ากว่า 150/90 มิลลิเมตรปรอท ขณะที่อายุน้อยกว่า 60 ปี หรือผู้ป่วยเบาหวาน และผู้มีภาวะไตเสื่อม ค่าความดันโลหิต ควรตํ่ากว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท

การเทียบค่าความดันโลหิต ดังนี้

ระดับความดันโลหิต

ค่าความดันโลหิตตัวบน

และ / หรือ

ความดันโลหิตตัวล่าง

ความดันโลหิตที่ดี

ต่ำกว่า 120

และ

ต่ำกว่า 80

ความดันโลหิตปกติ

120 – 129

และ / หรือ

80 - 84

ความดันโลหิตค่อนข้างสูง 

130 – 139

และ / หรือ

85 – 89

ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย

140 – 159

และ / หรือ

90 – 99

ความดันโลหิตสูงปานกลาง

160 – 179

และ / หรือ

100 – 109

ความดันโลหิตสูงมาก

ตั้งแต่ 180 ขึ้นไป

และ / หรือ

ตั้งแต่ 110 ขึ้นไป

ทั้งนี้ ค่าความดันโลหิตสูงอาจไม่ได้หมายถึงการเป็นความดันโลหิตสูงเสมอไป เพราะสามารถเกิดได้จากปัจจัยอื่น ๆ เช่น มีความเครียด ความตื่นเต้น หรือการดื่มชา/กาแฟ เป็นต้น

สาเหตุของความดันโลหิตสูง

พบว่าผู้มีอาการความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการและตรวจไม่พบสาเหตุ แต่หากมีการตรวจพบมักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นต้น หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องอาจนำไปสู่ความพิการหรืออันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้แล้ว ยังเกิดจากพฤติกรรมหรือปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • อายุ - ความเสี่ยงของความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
  • เพศ - ความดันโลหิตสูงพบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่า ทั้งนี้ ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงหลังอายุ 65 ปี
  • พันธุกรรม
  • การรับประทานอาหารรสเค็มจัด
  • การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • ขาดออกกำลังกาย

อาการของผู้ที่มีความดันโลหิตสูง

ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักไม่มีอาการผิดปกติ  แม้ว่าค่าความดันโลหิตที่อ่านได้จะสูงถึงระดับที่อันตรายก็ตาม บางกรณีอาจพบอาการเวียนศีรษะ ตึงต้นคอ ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงเช้าหลังตื่นนอน นอกจากนี้อาจพบอาการใจสั่น อ่อนเพลีย ตาพร่ามัว หรือมีเลือดกำเดาไหล แต่อาการเหล่านี้มักไม่เกิดขึ้นจนกว่าความดันโลหิตสูงจะถึงขั้นรุนแรงหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นความดันโลหิตสูง

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด โดยเฉพาะรสเค็ม เช่น อาหารสำเร็จรูป และอาหารหมักดอง
  • งดการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • ทำจิตใจให้แจ่มใส ลดความวิตกกังวลและความเครียดลง 
  • ปรึกษาแพทย์เรื่องการรับประทานยา และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ความดันสูง เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

โดยปกติแล้ว หากวัดค่าความดันโลหิตได้ 130-139/85-89 มิลลิเมตรปรอท ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจประเมินความผิดปกติที่เกิดขึ้นต่ออวัยวะภายในร่างกายจากโรคความดันโลหิตสูง  และตรวจความเสี่ยงโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เพื่อให้แพทย์พิจารณาควบคุมความดันโลหิตสูงด้วยวิธีต่างๆ เช่น การปรับพฤติกรรม หรือการรับประทานยา และมักต้องนัดหมายแพทย์เป็นประจำ เพื่อปรึกษาแพทย์และอ่านค่าความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ

หากมีความดันโลหิตสูง แต่ปล่อยทิ้งไว้ให้ความดันโลหิตสูงอยู่ในระดับเดิมนานๆ อาจทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสื่อมสภาพ และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น มีโอกาสเป็นโรคหัวใจตีบตัน 3-4 เท่า และโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน 7 เท่าของผู้ที่มีความดันปกติ

วิกฤตความดันโลหิตสูง คือ ค่าความดันโลหิตที่วัดได้นั้นสูงกว่า 180/110 มิลลิเมตรปรอท เมื่อวัดความดันโลหิตแล้วได้ค่านี้ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวัดความดันอย่างถูกต้องและรับการรักษา เนื่องจากภาวะนี้เป็นสัญญาณของความเสียหายของอวัยวะภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย  เช่น อาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ปวดหลัง ชา/อ่อนแรง การมองเห็นเปลี่ยนไปหรือพูดลำบาก  

ทั้งนี้ แม้ความดันโลหิตสูงจะพบได้บ่อยในผู้ใหญ่ แต่ในเด็กก็มีความเสี่ยงเช่นกัน สำหรับเด็กบางกลุ่ม ภาวะความดันโลหิตสูงเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับไตหรือหัวใจ แต่ก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดี เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และขาดการออกกำลังกาย

ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)

โดยทั่วไปในทางการแพทย์ ความดันโลหิตของผู้ใหญ่ที่ต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท (MmHg) และความดันโลหิตของผู้สูงอายุที่ต่ำกว่า 100/70 มิลลิเมตรปรอท (MmHg) จะถูกจัดว่าเข้าข่ายความดันโลหิตต่ำ  หากมีค่าความดันโลหิตต่ำอย่างสม่ำเสมอ แต่รู้สึกสบายดี แพทย์อาจตรวจติดตามผลในระหว่างการตรวจประจำปีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความดันโลหิตต่ำอาจดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ ไม่ถือเป็นปัญหาสุขภาพ แต่สำหรับคนจำนวนมาก ภาวะความดันโลหิตต่ำอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและเป็นลมได้ และกรณีที่รุนแรง ความดันโลหิตต่ำอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ด้วย

สาเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำ

สาเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำนั้น  มีได้ตั้งแต่ภาวะขาดน้ำ จนถึงความผิดปกติทางการแพทย์ที่ร้ายแรง สิ่งสำคัญคือ ต้องค้นหาว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ เพื่อให้การรักษาอย่างถูกต้องแต่เนิ่นๆ  

  • ความดันโลหิตลดลงเมื่อยืนหรือหลังรับประทานอาหาร
  • การตั้งครรภ์ เนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิตขยายตัวอย่างรวดเร็วในระหว่างตั้งครรภ์ ความดันโลหิตจึงมีแนวโน้มลดลง  อย่างไรก็ตาม ความดันโลหิตจะกลับสู่ระดับก่อนตั้งครรภ์หลังจากคลอด
  • โรคในหัวใจ เช่น  โรคทางลิ้นหัวใจ หัวใจวาย และภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ผลกระทบจากโรคอื่นๆ เช่น ปัญหาต่อมไร้ท่อ โรคพาราไทรอยด์ ภาวะต่อมหมวกไตไม่เพียงพอ  ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากโรคเบาหวาน
  • ภาวะขาดน้ำ อาจทำให้เกิดอาการอ่อนแรง วิงเวียนศีรษะ และเหนื่อยล้า
  • เสียเลือดมาก การสูญเสียเลือดจำนวนมาก เช่น จากการบาดเจ็บสาหัสหรือเลือดออกภายในร่างกาย  ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงอย่างรุนแรง
  • การติดเชื้อรุนแรง
  • การขาดสารอาหาร ได้แก่ วิตามิน B-12 โฟเลตและธาตุเหล็ก อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง ได้เพียงพอ  

การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาสำหรับโรคพาร์กินสัน  และยากล่อมประสาทบางชนิด

อาการความดันต่ำ

สำหรับบางคน ความดันโลหิตต่ำเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความดันโลหิตลดลงอย่างกะทันหัน หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น

  • วิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืดเป็นลม
  • ตาพร่ามัว
  • คลื่นไส้
  • อ่อนเพลีย
  • ขาดสมาธิ
  • ช็อก

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นความดันโลหิตต่ำ

  • เพิ่มสารอาหาร และรับประทานอาหารมื้อเล็กๆ ที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการนอนดึก และเวลานอนไม่ควรนอนหนุนหมอนที่ต่ำเกินไป
  • ไม่ควรยืนนานๆ หรือเปลี่ยนอิริยาบทอย่างรวดเร็วเกินไป
  • ใช้ยาอย่างระมัดระวัง โดยแจ้งให้แพทย์ทราบถึงปัญหาความดันโลหิตต่ำ  เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลง

ความดันต่ำ เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

แม้บางคนมองว่าอาการวิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืดเป็นครั้งคราวอาจเป็นปัญหาเล็กน้อย เช่น เป็นผลมาจากภาวะขาดน้ำเล็กน้อย หรือน้ำในอ่างอาบน้ำร้อนเกินไป  แต่จะเห็นได้ว่าอาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ร่างกายอาจกำลังบอกอะไรกับเราก็ได้ ดังนั้น จึงไม่ควรชะล่าใจ แต่ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ทั้งนี้ หากมีอาการวิงเวียนหรือหน้ามืดเวลาลุกขึ้นยืน ควรวัดความดันในท่ายืนด้วย โดยเริ่มต้นวัดความดันในท่านอนก่อน หลังจากนั้นลุกขึ้นยืน วัดความดันภายในเวลา 1 และ 3 นาทีหลังจากลุกขึ้นยืน  หากความดันโลหิตตัวบนในท่ายืนต่ำกว่าท่านอน  ≥  20 mmHg แสดงถึงภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนท่า (Orthostatic Hypotension) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและเป็นลมได้ เนื่องจากสมองไม่ได้รับเลือดเพียงพอ  และบ่งบอกถึงปัญหาและอาการที่ร้ายแรงอาจถึงแก่ชีวิตที่ตามมาได้ ได้แก่

  • เกิดความสับสนโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
  • ตัวซีด เย็น   
  • หายใจเร็วและตื้น
  • ชีพจรเต้นอ่อน หรือเต้นเร็วผิดปกติ 
  • มีอาการช็อก  

เราต่างทราบกันว่าโรคความดันโลหิตสูงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ  ทำให้ใส่ใจและให้ความสำคัญกับภาวะความดันโลหิตสูง แต่ภัยของโรคความดันโลหิตต่ำกลับถูกมองว่าไม่มีปัญหา ด้วยเหตุนี้ จึงมักจะพบผู้ที่มีอาการวิงเวียนหน้ามืด อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น แม้แต่ความดันโลหิตต่ำในระดับปานกลางก็สามารถทำให้วิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง หน้ามืด และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการหกล้ม รวมถึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

ความดันโลหิตเป็นภาวะที่สามารถเป็นได้กับทุกเพศทุกวัย   ดังนั้น ควรหมั่นวัดระดับความดันโลหิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และใส่ใจกับการเปลี่ยนแปลงของระดับความดันโลหิตในร่างกาย แต่หากเกิดอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook