แพทย์เตือน ดื่ม "น้ำอัดลม" เยอะๆ รวดเดียว เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
เฟซบุ๊กเพจ ห้องฉุกเฉินต้องรู้ เตือนภัย เมื่อมีข่าวจากประเทศจีนว่า มีคนที่ดื่มน้ำอัดลม 1.5 ลิตร ภายใน 10 นาที เกิดอาการผิดปกติ และสุดท้ายก็เสียชีวิต
ทางเพจระบุว่า ผู้ป่วยอยู่สภาวะอากาศร้อน และมีเหงื่อออกมาก จึงดื่มน้ำอัดลมขวดใหญ่หมดภายในเวลาอันรวดเร็ว แต่ในเวลาต่อมาก็เกิดอาการท้องอืด และปวดท้องมาก ไปจนถึงความดันโลหิตตก จนต้องรีบส่งเข้าห้องฉุกเฉิน เพื่อทำ CT Scan หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง
ผลปรากฏว่า พบฟองอากาศผุดเต็มเส้นเลือดในลำไส้และตับ โดยทางการแพทย์เรียกว่า Air Embolism ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา
Air Embolism คืออะไร?
Air Embolism หรือ ฟองอากาศอุดตันเส้นเลือด เป็นภาวะมีสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากมีฟองอากาศหรือฟองของแก๊สอื่นๆ หลุดเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือด ในมนุษย์อาจเกิดได้จากระหว่างผ่าตัด การขยายมากเกินไปของปอด (การบาดเจ็บจากแรงกดดัน) การลดความกดอากาศเร็วเกินไป และสาเหตุอื่นๆ
อันตรายจากภาวะฟองอากาศอุดตันเส้นเลือด
การดื่มน้ำอัดลมโซดาเยอะๆ ในคราวเดียว อาจเสี่ยงอันตรายฟองก๊าซผุดในเส้นเลือด โดยเพจ อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว ระบุว่า อันตรายของภาวะฟองอากาศอุดตันเส้นเลือด จะดูที่ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความรุนแรงคือปริมาณอากาศ ยิ่งมากยิ่งอันตราย และอัตราเร็วของการเข้าสู่กระแสเลือดของฟองอากาศ เช่น ฟองอากาศขนาด 200 ซีซี อัดเข้าหลอดเลือดอย่างรวดเร็วเพียงไม่กี่วินาที ทำให้เสียชีวิตได้ทันที แต่ในขณะที่ฟองอากาศเป็นลิตร แต่หากค่อยๆ เข้าหลอดเลือดก็จะมีโอกาสรอดมากกว่า หมายถึงสองปัจจัยที่มีผลคือปริมาณอากาศ และอัตราเร็วที่เข้าสู่ร่างกาย (ปริมาณอากาศเป็นซีซีต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมจะมีอันตรายที่แตกต่างกันออกไป)
นอกจากนี้ ตำแหน่งที่ฟองอากาศเข้าไปอุดตันก็สำคัญ อุดที่ไหน อันตรายที่นั่น เช่น หากอากาศปริมาณมากเข้าไปอุดล็อกที่หัวใจห้องขวา รองลงมาก็ไปอุดหลอดเลือดที่ออกจากหัวใจ ไปปอด ทำให้หายใจล้มเหลวได้
นอกจากนี้ บางกรณีที่จะไปอุดหลอดเลือดแดง เช่น อากาศที่แทรกมาในหลอดเลือดจากโรคน้ำหนีบ (decompression sickness) เวลาดำน้ำ หรือมีทางเชื่อมผิดปกติระหว่างหลอดเลือดดำและแดง (intracardiac or intrapulmonary shunt) ทำให้ฟองอากาศหลุดไปอุดตำแหน่งที่สำคัญที่สุดคือหลอดเลือดสมอง เป็นอัมพาตได้ เป็นต้น
อาการที่แสดงออก เมื่อเกิดภาวะฟองอากาศอุดตันเส้นเลือด
วิสัญญีสาร ระบุว่า ในผู้ป่วยที่รู้สึกตัวดีอาจมีอาการหายใจเหนื่อยขึ้นมาทันทีทันใด เจ็บหน้าอก หลอดลมหดเกร็ง มีอาการสับสน หมดสติ และระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว
วิธีป้องกันภาวะฟองอากาศอุดตันเส้นเลือด
- แพทย์ผู้ทำการทำหัตถการ การผ่าตัด การฉีดยาเข้าหลอดเลือด ควรระวังฟองอากาศเสมอ
- ผู้ที่ดำน้ำ ควรศึกษาหาข้อมูล และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการดำน้ำอย่างเคร่งครัด
- ไม่ดื่มน้ำอัดลมในปริมาณมากภายในเวลารวดเร็ว หากกระหายน้ำมากๆ ควรเลือกดื่มน้ำเปล่า หรือในกรณีที่เสียเหงื่อมากๆ ควรดื่มน้ำเกลือแร่จะดีกว่า