วิธีป้องกัน “มะเร็งปากมดลูก” มะเร็งในไม่กี่ชนิดที่ป้องกันได้จริง
“มะเร็งปากมดลูก” เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ของผู้หญิง และทำให้เสียชีวิตมากถึง 14 คนต่อวัน สิ่งที่หลายคนไม่ทราบ คือ มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งไม่กี่ชนิดที่ป้องกันได้ คือ มีระยะก่อนมะเร็งที่สามารถตรวจพบได้ เพื่อหาทางป้องกัน ดูแลรักษาที่เหมาะสม และลดความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ เรายังสามารถฉีดวัคซีนป้องกัน เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคได้อีกด้วย
บทความตอนนี้จึงได้เชิญ พญ.ชลิดา เรารุ่งโรจน์ แพทย์เฉพาะทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา-มะเร็งนรีเวชวิทยา โรงพยาบาลนวเวช มาให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก รวมทั้งวิธีคัดกรอง และป้องกัน เพื่อสาวๆ อยู่ห่างไกลจากโรคร้ายนี้
อาการของมะเร็งปากมดลูก
อาการในระยะเริ่มแรกของมะเร็งปากมดลูกมักไม่ปรากฏให้เห็นชัด แต่สามารถตรวจพบได้โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เมื่ออาการเริ่มรุนแรงอาจมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือมีตกขาวผิดปกติ ส่วนอาการในมะเร็งระยะลุกลาม ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ขาบวม ต่อมน้ำเหลืองโต ไตวาย ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน
สาเหตุมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์เสี่ยงสูง โดยสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยที่สุดได้แก่ สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งมาจากการมีเพศสัมพันธ์
ป้องกันมะเร็งปากมดลูกอย่างไร
นอกจากการรับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกแล้ว การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ก็เป็นวิธีที่จะป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อย่างหนึ่ง ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ส่วนผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรเริ่มตรวจเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ปัจจุบันมี 3 วิธี ได้แก่
- แปปสเมียร์ (Pap Smear)
คือการป้ายเซลล์จากปากมดลูกบนแผ่นกระจกสไลด์เพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติ
- Liquid Based Cytology
คือการป้ายเซลล์จากปากมดลูกใส่ในของเหลวเพื่อตรวจหาเซลล์ผิดปกติ ซึ่งให้ผลตรวจที่ชัดเจนมากขึ้น
- HPV Testing
คือการตรวจหาเชื้อไวรัสสายพันธุ์เสี่ยงสูงต่อมะเร็ง ให้ผลตรวจที่ละเอียดมากขึ้น
รู้จักวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก คือ วัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ในประเทศไทยมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่
- Bivalent Vaccine
หรือชื่อว่า Cervarix สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV 16 และ 18
- Quadrivalent Vaccine
หรือชื่อว่า Gardasil สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV 16 และ18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก และป้องกันไวรัส HPV สายพันธุ์ 6 กับ 11 ซึ่งเป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ
- Nonavalent vaccine
หรือชื่อว่า Gardasil 9 ซึ่งเป็นวัคซีนตัวล่าสุด สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV เพิ่มมาอีก 5 สายพันธุ์จากวัคซีน Gardasil ซึ่งสายพันธุ์ที่เพิ่มมา ได้แก่ 31, 33, 45, 52, 58
HPV vaccine ฉีดอย่างไร
สำหรับวัคซีนชนิดนี้จะฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อ (Intramuscular Injection or IM) ที่ต้นแขนหรือสะโพก จำนวน 3 เข็ม โดยเข็มแรกสามารถเลือกวันที่สะดวก เข็มที่สองจะฉีดหลังจากเข็มแรกประมาณ 1-2 เดือน และเข็มที่ 3 จะฉีดหลังจากเข็มแรก 6 เดือน
ควรฉีดวัคซีนตอนอายุเท่าไร
การฉีดวัคซีนในเด็กจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าผู้ใหญ่ โดยฉีดวัคซีน 2 ครั้งจะสามารถกระตุ้นภูมิ ได้เท่ากับการฉีดวัคซีน 3 ครั้งในผู้ใหญ่ ดังนั้นในเด็กอายุ 9-15 ปี จะฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็ม โดยให้ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่หากเลยวัยเด็กมาแล้ว ประสิทธิภาพของวัคซีนจะดีที่สุดในผู้ที่ไม่เคยได้รับเชื้อไวรัส HPV หรือผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
วัคซีนมีผลข้างเคียงหรือไม่
ส่วนใหญ่อาการมักเป็นเล็กน้อยและหายได้เอง และเป็นอาการข้างเคียงบริเวณที่ฉีดยา เช่น ปวด บวม แดง และคัน จึงควรฉีดยาข้างที่ไม่ถนัด บางคนอาจมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ผื่นคัน ไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรง
เป็นเรื่องน่ายินดีที่มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันได้ โดยควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกปีละครั้งในการตรวจโดยวิธี Pap smear และ Liquid base cytology และแนะนำให้ตรวจทุก 3 ปีถ้าใช้วิธีการตรวจหาเชื้อ HPV ส่วนการตรวจภายในเพื่อหาโรคทางนรีเวช ยังแนะนำให้ตรวจทุกปีเหมือนเดิม หลายคนหวาดกลัวและไม่กล้าจะตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แต่ในความจริงแล้ว การตรวจคัดกรองไม่มีความน่ากลัวใด ๆ เมื่อเทียบกับอาการของโรคมะเร็งปากมดลูก และความทรมานจากการรักษา การตรวจคัดกรองจึงเป็นการป้องกันและรักษาที่ดีที่สุดในทุกช่วงเวลา
ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันสามารถลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูก ซึ่งนำไปสู่ค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการรักษา ค่าเสียเวลา และอีกค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จิปาถะ จึงคุ้มค่ากับการลงทุน อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการตัดสินใจ เพื่อวัคซีนที่ฉีดจะได้มีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมกับแต่ละบุคคล