“ลืมง่าย จำยาก” 10 สัญญาณเสี่ยง “อัลไซเมอร์”

“ลืมง่าย จำยาก” 10 สัญญาณเสี่ยง “อัลไซเมอร์”

“ลืมง่าย จำยาก” 10 สัญญาณเสี่ยง “อัลไซเมอร์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • โรคอัลไซเมอร์ มักพบในผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวต่างๆ ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ มีปัจจัยทางพันธุกรรม หรือผู้ที่มีภาวะอื่นๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ

  • อาการด้านความจำ เป็นอาการของโรคอัลไซเมอร์ที่เด่นชัดที่สุด นอกจากนั้นเป็นอาการด้านอื่นๆ เช่น การสับสนในวัน เวลา สถานที่ ทิศทาง คิดคำพูดไม่ออก การตัดสินใจแย่ลง หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า แยกตัวออกจากสังคม

  • ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ มีเพียงการรักษาที่ช่วยให้อาการของผู้ป่วยทุเลาลงหรือประคับประคองไม่ให้อาการแย่ลงไป รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้

สมอง ถือเป็นอวัยวะที่ถือว่าสำคัญมากที่สุดส่วนหนึ่งของร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเกือบทั้งหมด แต่เมื่ออายุมากขึ้นพร้อมด้วยปัจจัยอื่นๆ สมองก็เสื่อมสภาพแบบค่อยเป็นค่อยไปตามกาลเวลาและรูปแบบการใช้งาน และแสดงออกทางร่างกายในรูปแบบต่างๆ ได้ หนึ่งในนั้น คือ อาการขี้หลงขี้ลืม ความจำไม่ดีเหมือนแต่ก่อน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในลักษณะเด่นของโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) ที่ถือว่าเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุที่พบบ่อยที่สุด

โรคอัลไซเมอร์คืออะไร

แพทย์หญิง จิตรลดา สมาจาร แพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer Disease) เป็นโรคที่มีการถดถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของสมองมากกว่าวัย เกิดจากการที่โปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ซึ่งเป็นผลจากของเสียที่เกิดจากการสันดาปของเซลล์ มีการตกตะกอนและไปจับกับเซลล์สมอง เส้นใยที่เชื่อมต่อของสมอง รวมถึงเซลล์พี่เลี้ยงของสมอง ส่งผลให้เกิดความเสียหายและนำมาสู่การตายของเซลล์สมอง โดยทำให้สมองเสื่อมและฝ่อลง และเกิดการสูญเสียเนื้อสมองในที่สุด

โรคอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคสมองเสื่อม (Dementia) ที่พบได้บ่อยที่สุด คิดเป็น 60% - 80% ของกลุ่มผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมทั้งหมด ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากการมีอายุยืนยาวขึ้นและปัจจัยด้านอื่นๆ ทั้งนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยที่แน่ชัด แต่จากข้อมูลของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Association) ที่เก็บข้อมูลของชาวอเมริกัน พบว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นทุกปี และสูงถึง 14 ล้านคนในปี 2020 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม ได้แก่ สมองเสื่อมจากภาวะสมองขาดเลือด (Vascular Dementia), Dementia  with Lewy bodies, Frontotemporal lobar dementia,  ภาวะสมองเสื่อมในโรค Parkinson  (Parkinson’s disease dementia) และภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์

1. ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

  • อายุ ในบุคคลทั่วไป เมื่ออายุมากกว่า 65 ปีไปแล้ว ทุกๆ 5 ปี จะมีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติโรคความจำเสื่อมในครอบครัว
  • การกลายพันธ์ของยีน Apolipoprotein E (Apo E), Amyloid-beta Precursor Protein (APP), Presenilin 1 (PSEN1) และ Presenilin 2 (PSEN2) และ Down’s syndrome จะทำให้ปรากฎอาการของโรคอัลไซเมอร์เร็วกว่าคนปกติ
  • เพศ พบว่าเพศหญิงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์มากกว่าเพศชายเล็กน้อย

2. ปัจจัยที่เกิดขึ้นภายหลัง

เป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ โดยปัจจัยเสี่ยงหรือโรคดังกล่าวส่งผลต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้เนื้อสมองมีความเสียหายมากขึ้น ดังนี้

  • โรคเบาหวาน พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า 39% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า 61%
  • โรคอ้วน พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า 60%
  • การสูบบุหรี่ พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า 59%
  • การไม่ออกกำลังกาย พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า 82%

3. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและทางกายภาพอื่นๆ

  • ระดับการศึกษา พบว่า จะมีความเสี่ยงสูงกว่า 59% หากมีระดับการศึกษาต่ำ
  • ภาวะซึมเศร้า พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า 90%
  • ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทำให้ขาดการทำงานของสมองในหลายๆ ด้าน และยังเป็นความเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้าอีกด้วย
  • การนอนหลับ การนอนหลับที่ไม่เพียงพอหรือไม่มีคุณภาพ เช่น มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) โรคของการเคลื่อนไหวผิดปกติช่วงนอน (Restless Leg Syndrome) โรคเหล่านี้มีผลต่อการซ่อมแซมเซลล์สมองในช่วงระหว่างการนอนหลับลึก และการรวบรวมความจำในช่วงระหว่างการนอนหลับตื้น
  • การมีประวัติอุบัติเหตุทางสมอง ที่ทำให้เซลล์สมองได้รับความเสียหาย

สัญญาณอันตราย อาการของโรคอัลไซเมอร์

อาการของโรคอัลไซเมอร์นั้น นอกจากปัญหาเรื่องความจำที่เป็นอาการที่เด่นชัดและสังเกตได้ง่ายแล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ที่หลากหลายแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน โดยทั่วไปแล้ว อาการเหล่านี้มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปและการเข้าสังคมด้วยเช่นกัน

  1. สูญเสียความจำหรือข้อมูลระยะสั้น มีการหลงลืมที่รบกวนชีวิตประจำวัน ลืมของไว้ในที่ที่ไม่ควรเก็บ เช่น วางของทิ้งไว้แล้วลืม วางกุญแจรถไว้ในตู้เย็น นึกชื่อคนที่รู้จักไม่ออก ถ้าหากตัวโรคเป็นมากขึ้น ก็อาจทำให้สูญเสียความทรงจำในอดีตได้
  2. มีความสับสนในวัน เวลา สถานที่
  3. มีความสับสนในทิศทาง เช่น ลืมเส้นทางที่เคยใช้เป็นประจำ
  4. มีปัญหาในการสื่อสาร เช่น คิดคำพูดไม่ออก เข้าใจหรือสื่อสารข้อความยาวๆ ไม่ได้
  5. มีการตัดสินใจที่แย่ลง ช้าลง
  6. มีการคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาที่ทำได้ยากขึ้น หรือทำได้แย่ลง
  7. ขาดสมาธิในการจดจ่อกับสิ่งที่ทำ
  8. มีปัญหาในการทำงาน ทำงานให้สำเร็จได้ยากกว่าปกติ
  9. มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ซึมเศร้า
  10. มีการแยกตัวจากสังคม งาน หรือกิจกรรมที่เคยทำหรือชื่นชอบ

คนที่ขี้หลงขี้ลืม จัดว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือไม่?

หากบอกว่าคนที่มีอาการขี้หลงขี้ลืมนั้นถือเป็นโรคอัลไซเมอร์ อาจไม่ถูกต้องนัก คนที่มีอาการขี้หลงขี้ลืมบ่อยๆ อาจเป็นได้จาก 2 กรณี ได้แก่

  1. มีอาการขี้ลืมจากการไม่ได้จดจำ ไม่ได้เก็บข้อมูลเข้าไปในความจำ เช่น ยุ่งมากมีเรื่องหลายเรื่องที่ต้องทำ ลักษณะนี้ไม่ถือว่าเป็นโรคความจำเสื่อม
  2. มีอาการขี้ลืมที่เกิดจากความจำถดถอย ความสามารถในการจดจำลดลง ถือว่าเป็นโรคความจำเสื่อม ซึ่งมักมีอาการอื่นในเรื่องของความจำร่วมด้วย

การตรวจวินิจฉัยโรคความจำเสื่อม

การตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของโรคความจำเสื่อม ถือเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาและตรวจหาสาเหตุ เพื่อให้ทำการรักษาได้ตรงเป้า แม่นยำเฉพาะโรค และประสบผลสำเร็จ การวินิจฉัยโรคความจำเสื่อม ทำได้ดังนี้

  • การซักประวัติ จากตัวผู้ป่วยเอง คนรอบข้าง หรือผู้ใกล้ชิด เพื่อสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์
  • การตรวจร่างกาย เพื่อหาอาการร่วมทางระบบประสาท เช่น อาการอ่อนแรง การเคลื่อนไหวผิดปกติ
  • การตรวจความจำ เช่น Mini Mental Status Examination (MMSE), Montreal Cognitive Assessment (MoCA), Cognitive Ability Test
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
    • การตรวจภาพวินิจฉัยสมอง ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อประเมินภาวะของสมอง
    • การตรวจเลือด เพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การตรวจน้ำตาล น้ำตาลสะสม ระดับไขมันในเลือด การทำงานของไทรอยด์ ระดับวิตามินบี12 การตรวจหาภาวะการติดเชื้อซิฟิลิสหรือเอชไอวี การตรวจภูมิคุ้มกันในร่างกายที่มีผลต่อสมอง
  • การประเมินภาวะทางอารมณ์
  • การตรวจยีน เช่น  Apolipoprotein E4 (Apo E4), Amyloid-beta Precursor Protein (APP), Presenilin 1 (PSEN1) และ Presenilin 2 (PSEN2)

นอกจากนั้น ยังจำเป็นจะต้องตรวจหาภาวะหรือโรคทางกายอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อความจำและให้การรักษาด้วยเสมอ ได้แก่ ภาวะเกลือแร่ในร่างกายต่ำ เช่น โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม ภาวะขาดวิตามินในร่างกาย ได้แก่ วิตามินบี1 บี12 โฟลิก ภาวะพร่องไทรอยด์หรือไทรอยด์เป็นพิษ การติดเชื้อบางอย่างในร่างกาย เช่น ซิฟิลิส เอชไอวี โรคภูมิคุ้มกันแปรปรวนที่มีผลต่อสมอง การใช้ยาบางอย่างที่มีผลต่อความจำ โดยเฉพาะยาที่มีผลทำให้ง่วงนอน ยานอนหลับ สารเสพติดบางชนิด เช่น แอมเฟตามีน โคเคน กัญชา โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการใช้ในปริมาณมากหรือต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ

การป้องกันโรคความจำเสื่อม

  1. ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หากมีภาวะเหล่านี้ ควรรักษาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและควบคุมได้
  2. ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  4. บริหารสมอง โดยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบในเวลาว่าง เช่น อ่านหนังสือ วาดรูป ทำอาหาร ปลูกต้นไม้
  5. เข้าสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
  6. บริหารอารมณ์ให้แจ่มใส ลดความวิตกกังวล ลดความเศร้า หากไม่สามารถทำเองได้ แนะนำให้พบจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด เพื่อดูแลอาการให้ดีขึ้น

การรักษาภาวะความจำเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์นั้น ในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงการรักษาที่ช่วยให้อาการของผู้ป่วยทุเลาลงหรือประคับประคองไม่ให้อาการแย่ลงไป รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนี้

  1. มุ่งเน้นไปที่สาเหตุ/โรคร่วมที่ทำให้เกิดโรค และให้การดูแลสุขภาพในทุกมิติ ทั้งการดูแลสุขภาพกาย การทำกิจวัตรประจำวัน
  2. หากิจกรรมเพื่อส่งเสริมสมอง กิจกรรมกระตุ้นความคิด
  3. หาผู้ดูแลผู้ป่วยที่ค่อนข้างเข้าใจในธรรมชาติของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ เพื่อรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ป่วยได้ถูกต้อง
  4. วางแผนการรักษาในระยะยาว ปรับสภาพแวดล้อมของผู้ป่วยให้มีความปลอดภัย
  5. การใช้ยากระตุ้นสมอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook