"กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" ภาวะเสี่ยงหลังหายจากโควิด-19

"กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" ภาวะเสี่ยงหลังหายจากโควิด-19

"กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ" ภาวะเสี่ยงหลังหายจากโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้ที่หายจากโควิด-19 อาจประสบภาวะลองโควิด (Long COVID) ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ในบางราย

ลองโควิด (Long COVID) คืออาการตกค้างที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนที่มีการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 4-12 สัปดาห์แล้วหาย ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ถ้ามีอาการของลองโควิดแล้ว จะมีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ เพราะอาจจะสามารถเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ แต่หากรู้สาเหตุและการป้องกัน จะสามารถรักษาได้ทันท่วงที

ผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ หลังหายจากโควิด-19

นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ หัวหน้าศูนย์ตรวจสมรรถภาพหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า โควิด-19 มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ หากป่วยด้วยโรคหัวใจอยู่แล้วและติดเชื้อจะทำให้อาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนที่สูงกว่าคนทั่วไป เมื่อได้รับเชื้อแล้ว ผลที่จะสามารถเกิดขึ้นได้โดยตรงกับหัวใจคือ ขณะที่ได้รับเชื้อและร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อ อาจมีภาวะที่เรียกว่า เกิดภูมิต้านทานของตัวเองต่อกล้ามเนื้อหัวใจและต่อเยื่อหุ้มหัวใจ ที่จะส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรงและการทำงานและการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่ชัดเจนว่าสามารถเจอได้มากน้อยเพียงใด 

ในบางการศึกษารายงานว่า สามารถพบการเสียชีวิตของการติดเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลโดยตรงกับหัวใจ ได้ 7-10% และในผู้ป่วยที่ติดเชื้อรุนแรงพบว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้มากถึง 40% 

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบยังสามารถพบได้จากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เช่นเดียวกัน แต่พบได้ไม่บ่อยนักและส่วนมากจะพบได้ในการฉีดวัคซีนชนิด mRNA โดยเฉพาะหลังจากฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว 3 วัน จนถึง 2 สัปดาห์ เกือบทั้งหมดตรวจพบความผิดปกติเล็กน้อยจากการเจาะเลือดหรือตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเกือบทั้งหมดหายได้เองและหายสนิท ซึ่งตัวเลขจากการศึกษาพบเพียงประมาณ 1 ใน 100,000 ถึง 200,000 คน ซึ่งจากรายงานพบว่าภาวะดังกล่าวไม่ได้มีความรุนแรง

อาการลองโควิดที่แสดงออกเกี่ยวกับหัวใจ

อาการลองโควิดที่แสดงออกเกี่ยวกับหัวใจ คือ 

  • ใจสั่น 
  • เหนื่อย เพลีย
  • บางครั้งอาจมีอาการเจ็บหน้าอก 

การเจ็บหน้าอกจะไม่เฉพาะเจาะจง บางคนมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่มีการรักษาเฉพาะเจาะจง แต่อาจมีการตรวจเลือด หรือทำภาพสแกน หรือ MRI เพื่อดูความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจและยังไม่มีมาตรฐานการรักษาที่ชัดเจนในปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์โรคหัวใจ 

จากรายงานยังสามารถพบได้อีกว่า อาการที่อาจพบร่วมด้วยของการเป็นลองโควิดอยู่ในกลุ่มเดียวกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าพบอุบัติการณ์ของการเป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบหลังติดเชื้อโควิด-19 มากน้อยเพียงใด แต่พบน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับการมีภาวะแทรกซ้อนขณะที่กำลังมีการติดเชื้อ COVID-19

อย่างไรก็ตามเมื่อหายจาก COVID-19 ต้องหมั่นสังเกตอาการและดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติหรือมีข้อสงสัยที่คิดว่าอาจจะมีความเสี่ยงควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กทันที โดยเฉพาะสุขภาพหัวใจเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook