แพทย์เตือน 4 พฤติกรรมในชีวิตประจำวันแบบไหน เสี่ยง "มะเร็ง"

แพทย์เตือน 4 พฤติกรรมในชีวิตประจำวันแบบไหน เสี่ยง "มะเร็ง"

แพทย์เตือน 4 พฤติกรรมในชีวิตประจำวันแบบไหน เสี่ยง "มะเร็ง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคมะเร็ง ภัยเงียบที่ไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ แต่ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย และมีโอกาสเกิดขึ้นกับคนอายุน้อยเพิ่มมากขึ้น หนึ่งในสาเหตุการเกิดเชื้อมะเร็งมาจากพฤติกรรมเสี่ยงและสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน เป็นช่องว่างเปิดโอกาสให้มะเร็งเข้าลุกลาม 

ล่าสุดข้อมูลจาก องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) เผย สถิติปี 2561 พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 18.1 ล้านคนทั่วโลก ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งพุ่งสูงถึง 9.6 ล้านคน ก่อนช่วงสิ้นปี 2561 

ขณะเดียวกันมะเร็งยังคงเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยอันดับ 1 และมีแนวโน้มการเสียชีวิตสูงขึ้นในทุกปี พบ 5 อันดับมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย โดยเพศชายและเพศหญิงที่มีอัตราความเสี่ยงต่างกัน พร้อมเผยพฤติกรรมโปรดในชีวิตประจำวันของหลายคน อาจกำลังทำร้ายร่างกายโดยไม่รู้ตัว แต่เป็นพฤติกรรมที่รักของโรคมะเร็ง แนะ 3 ข้อ เลี่ยง ลด เสริม เพื่อลดความเสี่ยง และห่างไกลมะเร็ง 

นายแพทย์ธนุตม์ ก้วยเจริญพานิชก์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางโรคมะเร็งแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า ระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงคนไทยเผชิญกับภาวะวิกฤตครั้งใหญ่ การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดมาตรการล็อกดาวน์ และก้าวเข้าสู่ยุคนิวนอร์มอล (New normal) เพื่อปรับรูปแบบการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส  เช่น เว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) 

ขณะที่กลุ่มคนทำงาน อายุตั้งแต่ 22- 60 ปี ต้องเข้าสู่รูปแบบการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) แทนการเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเดิม 

กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ต้องเข้าเรียนผ่านในระบบออนไลน์ รวมไปถึงการทำกิจกรรมในกิจวัตรประจำวันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แทบทั้งหมด โดยแทบไม่ต้องเคลื่อนที่ออกจากบ้าน 

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระตุ้น หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งจากพฤติกรรมดังต่อไปนี้ 

พฤติกรรมในชีวิตประจำวันแบบไหน เสี่ยง "มะเร็ง"

  1. เครียด เพราะต้องปรับตัวกับการทำงานรูปแบบใหม่ ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทั้งยังไม่สามารถแบ่งเวลาพักผ่อนออกจากการทำงาน หรือการเรียนได้อย่างสมดุล ผนวกกับต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ และหลายรายประสบปัญหาตกงาน
  2. พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ นอนไม่หลับ เป็นระยะเวลานาน ผลพ่วงจากความเครียดสะสมจากการปรับตัวรับนิวนอร์มอล 
  3. รับประทานทานอาหารไม่มีประโยชน์ จำพวกอาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป  ขนมขบเคี้ยว และพฤติกรรมทานซ้ำ ทานด่วนบ่อย ส่วนมากมักเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงโดยการทอดหรือผัด ที่มักมีไขมันสูงทำให้อ้วนลงพุง ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
  4. ไม่ออกกำลังกาย หรือ ขยับร่างกายน้อยในแต่ละวัน เนื่องจากไม่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ มักหมดเวลาไปกับการทำงาน ขยับตัวน้อย หรือแทบไม่ได้ขยับตัวเคลื่อนไหวออกนอกบ้าน 

อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันมีโรคอุบัติใหม่เพิ่มขึ้นมากมาย แต่โรคมะเร็งยังคงอยู่ในอันดับต้นๆ ของโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยมากสุดในแต่ละปี และคาดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุการเกิดโรคมะเร็ง 70% มาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้ 

ข้อมูลกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบ 5 อันดับโรคมะเร็งที่เป็นปัญหาสำหรับคนไทยจากพฤติกรรม ในผู้ป่วยเพศชาย คือ

  1. มะเร็งตับ
  2. มะเร็งปอด
  3. มะเร็งลำไส้ใหญ่
  4. มะเร็งที่ทวารหนัก
  5. มะเร็งช่องปาก 

ขณะเดียวกัน ในผู้ป่วยเพศหญิง คือ

  1. มะเร็งเต้านม
  2. มะเร็งลำไส้ใหญ่
  3. มะเร็งปากมดลูก
  4. มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์
  5. มะเร็งตับ

ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงมะเร็งลุกลามโดยไม่รู้ตัว หรือหากรู้ก่อนก็จะสามารถควบคุมและรักษาให้หายได้ แนะ 3 ข้อ เลี่ยง ลด เสริม เพื่อลดภาวะความเสี่ยงจากมะเร็ง พฤติกรรมที่ทำร้ายร่างกาย แต่เป็นที่รักของมะเร็ง ให้สอดคล้องกับนิวนอร์มอล

เลี่ยง… ขณะที่หลายบริษัทมีมาตรการให้พนักงานทำงานที่บ้าน ส่งผลให้การทำกิจกรรมต่าง ๆ อาจต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด ร่วมกับส่วนรวม หรือครอบครัว

  • หลีกเลี่ยงการสูดดมควันพิษที่มีสารก่อเกิดมะเร็ง อาทิ ควันจากบุหรี่ หรือควันจากธูป ภายในบ้าน หรือบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากในยุคที่หลายคนต้องกักตัวอยู่บ้าน กิจกรรมต่าง ๆ อาจอยู่ในพื้นที่จำกัด เช่นการสูบบุหรี่ในบ้าน หรือระเบียงคอนโด เป็นต้น 
  • เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 และเศรษฐกิจที่คาดเดาไม่ได้ อาจส่งผลให้หลายคนหันหน้าไปพึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อคลายเครียดเพิ่มขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการขับถ่ายไม่เป็นเวลา หรือท้องผูกบ่อย ๆ จากการทานอาหารที่ไม่สดใหม่ หรืออาหารค้างคืน เกิดจากการทำงานเพลิน ขยับตัวน้อย ทานอาหารที่มีกากใยน้อย

ลด... บริโภคอาหารร้ายที่มะเร็งรัก โดยเฉพาะในช่วงกักตัว ที่หลายบ้านต้องเลือกสั่งอาหารจากแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารปรุงซ้ำ

  • ลดอาหารที่มีส่วนผสมสารไนโตรชามีนในเนื้อสัตว์แปรรูป อาทิ ไส้กรอก แฮม เบคอน กุนเชียง เป็นต้น จากเมนูอาหารที่มาพร้อมโปรโมชั่นผ่านการขายเดลิเวอรี่ กระตุ้นความต้องการผู้บริโภค
  • ลดอาหารที่มีส่วนผสมสารไฮคาร์บอนจากอาหารที่ไหม้เกรียม และน้ำมันที่ทอดซ้ำกันหลายรอบ 
  • ลดอาหารที่มีส่วนผสมสารอัลฟาทอกชิน ในอาหารแห้งที่อับชื้น เช่น ถั่วป่น พริกป่น หรือกุ้งแห้ง
  • ลดอาหารที่มีสารเคมีจากอาหารหมักดอง เช่น ผัก และผลไม้ดอง แหนม ปลาร้า
  • ลดทานอาหารที่ไม่สุก เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมพยาธิก่อให้เกิดมะเร็ง อาทิ ลาบเลือด ปลาน้ำจืดดิบ หรือผักสดที่ล้างไม่สะอาด

เสริม... ป้องกัน ห่างไกล สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไม่อาจคาดเดาได้ ดังนั้นการเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายในยุคนิวนอร์มอลจึงเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจเพิ่มขึ้น

  • รับประทานผักและผลไม้อย่างน้อย 5 สี ต่อวัน มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระจากวิตามิน เกลือแร่ และสารพฤกษเคมีหลายชนิด
  • เสริมการทานข้าวแป้งและธัญพืชที่ไม่ขัดสี เนื่องจากมีกากใยช่วยในการขับถ่าย สารอนุมูลอิสระ และสารพฤกษเคมีหลายชนิด
  • เสริมการปรุงแต่งรสชาติอาหารด้วยใช้เครื่องเทศ แทนการใช้ผงปรุงรสในปริมาณที่มากเกิน
  • เสริมการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • เสริมการผ่อนคลายร่างกายและสมองจากงาน เพื่อลดภาวะความเครียดที่พบเจอแต่ละวัน ด้วยกิจกรรมที่ชื่นชอบ อาทิ ดูหนัง ฟังเพลง หรือเล่นเกม เป็นต้น
  • เสริมการนอนพักผ่อนเป็นเวลา เพียงพอ และเหมาะกับร่างกายแต่ละช่วงวัย
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

หากสามารถนำแนวทาง เลี่ยง ลด เสริม ไปปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันได้ จนส่งเสริมให้เกิดพื้นฐานการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการเลือกรับประทานอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ ถูกตามหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาจิตใจ ไม่เครียด ถือเป็นยาวิเศษที่ดีที่สุดในทุกช่วงเวลาของชีวิต ไม่ว่ารูปแบบการใช้ชีวิตของสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook