วิธีรักษา “มะเร็งเต้านม” และภาวะ "แขนบวม" หลังเข้ารับการรักษา

วิธีรักษา “มะเร็งเต้านม” และภาวะ "แขนบวม" หลังเข้ารับการรักษา

วิธีรักษา “มะเร็งเต้านม” และภาวะ "แขนบวม" หลังเข้ารับการรักษา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคมะเร็งเต้านม ถือได้ว่าเป็นมะเร็งร้ายอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ 37 ของมะเร็งทั้งหมด และยังมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอดอีกด้วย

ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ กล่าวถึงสถิติของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่สูงขึ้นทุกๆ ปี จึงอยากเชิญชวนคุณผู้หญิงตรวจเช็กสุขภาพเต้านมของตัวเอง และเชิญชวนให้ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป เข้ารับการตรวจคัดกรอง โดยเครื่องดิจิทัลแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ เพราะหากตรวจพบในระยะแรกๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาอย่างทันท่วงที

มะเร็งเต้านม พบมากเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย

นพ.สาธิต ศรีมันทยามาศ ศัลยแพทย์มะเร็งเต้านม โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ กล่าวว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่สามารถพบได้มากที่สุดในผู้หญิง เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต 

มะเร็งเต้านม เป็นเซลล์มะเร็งที่เกิดกับอวัยวะภายนอก สามารถคลำหาได้ด้วยมือ ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมเกินกว่าร้อยละ 85 จึงมักจะมาพบแพทย์หลังจากคลำพบก้อนที่เต้านม โดยมะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบและได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น

ตรวจหามะเร็งเต้านม ด้วยแมมโมแกรม และอัลตร้าซาวนด์

วิธีที่จะช่วยให้พบเซลล์มะเร็งได้เร็วคือ การตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวนด์ (digital mammogram and ultrasound) ซึ่งสามารถหาเซลล์ที่ผิดปกติได้ตั้งแต่ขนาดเล็กในระดับมิลลิเมตร โดยปกติจะใช้เวลาตรวจ 5-10 นาที โดยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมจะกดเต้านมไว้ประมาณ 5 วินาที ภาพที่ได้จากการตรวจมีความละเอียดและความคมชัดสูง ช่วยแพทย์สามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจนเมื่อพบบริเวณที่มีก้อนเนื้อต้องสงสัยแล้วตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ ร่วมกับการตรวจชิ้นเนื้อก็จะวินิจฉัยได้ว่าก้อนเนื้อนั้นเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ มีประสิทธิภาพสูงในการตรวจหาความผิดปกติของเต้านม

รักษามะเร็งเต้านม ด้วยการผ่าตัด

การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งเต้านมในปัจจุบันที่เป็นวิธีมาตรฐาน ซึ่งประกอบไปด้วยสองส่วนคือการผ่าตัดเต้านมและการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ การผ่าตัดเต้านมมีสองแบบคือ

  1. การผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า (Total mastectomy) ซึ่งอาจผ่าตัดร่วมกับการเสริมสร้างเต้านม (Breast reconstruction) โดยใช้เนื้อเยื่อของตนเองหรือ ถุงซิลิโคน
  2. การผ่าตัดเฉพาะจุดที่เป็นมะเร็งหรือการผ่าตัดแบบสงวนเต้า (Breast conserving surgery) ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการฉายรังสีรักษา แต่ถ้าเลือกผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดมักไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี สำหรับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ จะทำการฉีดสีเพื่อตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนล (Sentinel lymph node) แต่ถ้าพบว่ามีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองแล้วจำเป็นต้องได้รับการเลาะต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด (Axillary dissection)

โดยทั้งสองวิธีให้ผลการรักษาที่เหมือนกันคือ ผู้ป่วยมีโอกาสจะหายจากมะเร็งได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องให้เคมีบำบัด แต่หากพบมะเร็งเต้านมในระยะที่ใหญ่ขึ้น คือ ตั้งแต่ระยะที่ 1 ตอนปลายเป็นต้นไป (มะเร็งระยะแพร่กระจาย) ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ทั้งยังต้องรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัดและฮอร์โมน เพื่อลดโอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำ  

ภาวะแขนบวม หลังรักษามะเร็งเต้านม

ผศ.พญ.ศศิธร สุจริตธนะการ ศัลยแพทย์มะเร็งเต้านม ศีรษะ และลำคอ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพวัฒโนสถ กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอาจจะต้องพบเจอตลอดชีวิตคือ ภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม (Lymphedema and Breast Cancer) เป็นอาการแขนบวมที่เกิดขึ้นหลังจากการผ่าตัดหรือรังสีรักษา อาจเกิดขึ้นทันทีหรือหลังการรักษาไปแล้วหลายปี โดยเกิดขึ้นกับแขนข้างเดียวกับที่เป็นมะเร็งเต้านม เกิดได้ตั้งแต่นิ้วมือไปจนถึงต้นแขน หากมีอาการบวมน้อยจะยังใช้แขนได้ปกติแต่ถ้ามีอาการบวมมากอาจจะใช้แขนไม่ได้ตามปกติ 

สาเหตุของอาหารแขนบวมหลังรักษามะเร็งเต้านม

สาเหตุของอาหารแขนบวมหลังรักษามะเร็งเต้านม ดังนี้

  1. ได้รับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกเพื่อรักษามะเร็งเต้านม การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกในปริมาณมาก แขนจะมีโอกาสบวมเพิ่มขึ้น ซึ่งการผ่าตัดจะมาหรือน้อยขึ้นกับระยะของโรคมะเร็งที่ตรวจพบ และหากเนื้อเยื่อบริเวณที่ผ่าตัดเกิดพังผืดอาจส่งผลให้ท่อน้ำเหลืองเกิดพังผืด จนทำให้ทางเดินน้ำเหลืองอุดตันส่งผลให้เกิดภาวะแขนบวมได้
  2. การฉายรังสีรักษาบริเวณรักแร้และ/หรือเต้านม อาจทำให้เกิดพังผืดที่บริเวณรักแร้และทำให้เกิดผังพืดที่ท่อน้ำเหลือง ส่งผลให้เกิดการอุดตันจนแขนบวมได้ ถ้าผู้ป่วยผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้และฉายรังสีด้วย โอกาสแขนบวมก็จะยิ่งมากขึ้น
  3. แขนติดเชื้อ หลังการรักษาด้วยการผ่าตัดและรังสีรักษาอาจทำให้เกิดการคั่งของน้ำเหลือง ส่งผลให้แขนมีโอกาสเกิดการติดเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อติดเชื้อและรักษาหายพังผืดในเนื้อเยื่อแขนจะเพิ่มขึ้น ทางเดินน้ำเหลืองจะอุดตันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แขนบวมมากขึ้นและติดเชื้อง่ายขึ้น เป็นอาการเรื้อรัง เป็นแล้วหายหลายรอบตามมา
  4. โรคมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ ทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายอุดตันทางเดินน้ำเหลืองของแขน ส่งผลให้แขนบวม อาการของภาวะแขนบวมที่สังเกตได้ง่าย คือจะมีอาการแขนบวม ปวด ชา อ่อนแรง แขนติด เคลื่อนไหวไม่เป็นปกติ ผิวหนังหนาไม่เรียบ ใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับแล้วรู้สึกคับไม่สบายตัว

การตรวจวินิจฉัยภาวะแขนบวมหลังรักษามะเร็งเต้านม

แพทย์จะประเมินหลังจากการผ่าตัดผ่านไปแล้วประมาณ 6 เดือน เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนไข้เกิดอาการมากที่สุด ซึ่งจะประเมินได้จากภาพถ่ายเปรียบเทียบแขนทั้ง 2 ข้าง การวัดเส้นรอบวงแขนเหนือศอก การวัดปริมาตรแขน รวมถึงการตรวจอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น Lymphoscintigraphy, MRI, CT Scan เป็นต้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ 

การรักษาอาการแขนบวมหลังรักษามะเร็งเต้านม

ขั้นตอนการรักษาจะเริ่มด้วยการ

  1. ลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการบวม
    - ต้องระวังอย่าให้เกิดแผลที่แขนหรือติดเชื้อ ถ้าแผลเล็กต้องเช็ดทำความสะอาดทุกครั้งก่อนทายา ถ้าแผลใหญ่หรือแผลลึกต้องรีบพบแพทย์ทันที
    - ควรเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ไม่เจาะเลือด ฉีดยา ฉีดวัคซีนแขนด้านที่ผ่าตัด ใส่ถุงมือยางเมื่อทำงานบ้าน
    - ไม่ควรบีบรัดแขนแน่น ไม่ใส่เสื้อขนาดเล็กเกินไปหรือเครื่องประดับที่รัดแขนข้างที่ผ่าตัด
    - ละเว้นการยกของหนัก ไม่ออกกำลังที่ต้องใช้กำลังแขนหรือใช้แขนตลอดเวลา
    - ระวังการอาบน้ำร้อนเกินไปหรืออบตัวด้วยความร้อนมากเกินไป
    - หากนั่งนิ่งเป็นเวลานานควรยกแขนสูงกว่าระดับหัวใจ
    - ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนเพราะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้แขนบวมได้
    - หมั่นสังเกตแขนด้านที่ผ่าตัด หากบวมหรือผิดปกติต้องรีบพบแพทย์ทันที
    - ในคนที่มีภาวะแขนบวมแล้วการนวดแขนไล่น้ำเหลือง ใส่ปลอกแขนรัดไล่น้ำเหลือง ใช้เลเซอร์กระตุ้นการหมุนเวียนของเลือดและน้ำเหลืองจะช่วยให้อาการบวมลดลงได้
  2. การผ่าตัด
    ผ่าตัดเชื่อมท่อน้ำเหลืองกับเส้นเลือดดำ เพื่อให้น้ำเหลืองไหลกลับได้ดี การผ่าตัดปลูกถ่ายต่อมน้ำเหลืองอาจพิจารณาในคนไข้ที่มีอาการมาก การผ่าตัดเนื้อส่วนเกินและ/หรือดูดไขมันออกช่วยลดปริมาตรของแขนที่บวมในคนไข้ที่มีอาการมากแล้วอาจพิจารณาในคนไข้บางราย หากคนไข้ได้รับการผ่าตัดมะเร็งเต้านมทั้งสองข้าง อาจทำให้เกิดภาวะแขนบวมทั้งสองข้างได้เช่นกัน วิธีการดูแลรักษาจะเป็นวิธีเดียวกันกับแขนบวมข้างเดียว แต่ในเวลาที่ต้องใช้งานแขนควรเลือกแขนข้างที่บวมน้อยกว่า 

แม้ว่ามะเร็งเต้านมจะป้องกันได้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยง แต่เราสามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ควรตรวจด้วยวิธีคลำด้วยตนเองทุกเดือน ตั้งแต่อายุ 20 ปีควรให้แพทย์ตรวจทุก 3-5 ปี และสำหรับผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยดิจิทัลแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ทุกปี และหากมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งอาจต้องตรวจเร็วขึ้นตั้งแต่อายุ 35 ปี เพราะหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะทำให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และสามารถลดการสูญเสียเต้านมไปได้อีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook