เคล็ดลับดูแล “ลำไส้” เพื่อสุขภาพ-ความงาม จากคนญี่ปุ่น

เคล็ดลับดูแล “ลำไส้” เพื่อสุขภาพ-ความงาม จากคนญี่ปุ่น

เคล็ดลับดูแล “ลำไส้” เพื่อสุขภาพ-ความงาม จากคนญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สุขภาพและลำไส้เป็นประเด็นที่คนญี่ปุ่นให้ความสนใจกันเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ เพราะลำไส้ไม่ได้เป็นเพียงอวัยวะที่ย่อยและดูดซึมสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อร่างกายในด้านความงามและสุขภาพด้วย มารู้หน้าที่ของลำไส้และข้อปฏิบัติเพื่อดูแลลำไส้ให้มีสุขภาพดีตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพญี่ปุ่นกันค่ะ

หน้าที่สำคัญของลำไส้

นอกจากลำไส้จะเป็นแหล่งที่ย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือดแล้ว ก็เป็นแหล่งสร้างเซลล์คุ้มกันของร่างกาย โดยพบว่าร้อยละ 60 ของเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกสร้างมาจากลำไส้ หากลำไส้ไม่สะอาดของเสียจากอาหารที่คั่งค้างและจากระบบเผาผลาญพลังงานจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้เลือดหนืดข้น และทำให้เกิดการสะสมของไขมันชั้นใต้ผิวและอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย การดูแลลำไส้ให้ดีจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงไม่ป่วยง่าย และมีผลในการเสริมให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้ดี ส่งผลให้ผิวพรรณดีและไม่อ้วนง่าย

ข้อปฏิบัติในการดูแลลำไส้ให้มีสุขภาพดีเพื่อสุขภาพกายและความงาม

  1. ดูแลสภาพแวดล้อมในลำไส้ให้ดี

ด้วยว่าร้อยละ 60 ของภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้นถูกสร้างจากลำไส้ หากสภาพแวดล้อมในลำไส้ไม่ดี ก็จะทำให้มีการเจริญของเชื้อก่อโรคและทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ โดยปกติที่ลำไส้ของคนเราจะมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ประมาณ 2,000-3,000 ชนิด ในปริมาณที่มากกว่า 100 ล้านล้านตัวซึ่งรวมถึงแบคทีเรียชนิดดี แบคทีเรียชนิดไม่ดี และแบคทีเรียที่มาอาศัยอยู่ที่ลำไส้ หากสัดส่วนของแบคทีเรียทั้งสามชนิดอยู่ที่สัดส่วน 2:1:7 จะบ่งบอกว่าลำไส้มีสภาพแวดล้อมที่ดี การดูแลให้ลำไส้ให้มีสัดส่วนของแบคทีเรียชนิดดีเหนือแบคทีเรียชนิดไม่ดีจะส่งผลให้สุขภาพแข็งแรง ทำให้ผิวพรรณดีและช่วยชะลอความแก่ วิธีการดูแลสิ่งแวดล้อมในลำไส้ให้ดีมีดังนี้คือ

  • ไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไป

ไขมันจากเนื้อสัตว์แม้ว่าจะมีประโยชน์ต่อร่างกายและความงาม แต่การรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปก็จะส่งผลในการเพิ่มปริมาณแบคทีเรียชนิดไม่ดีในลำไส้

  • รับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มปริมาณแบคทีเรียชนิดดี

อาหารที่ช่วยเพิ่มปริมาณแบคทีเรียชนิดดี ได้แก่

(1) อาหารหมักดองที่มีแลคติกแอซิดแบคทีเรีย เช่น ผักดองรำ ซุปมิโซะ นัตโตะ และผลิตภัณฑ์นมหมัก เช่น นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต เป็นต้น

(2) อาหารที่อุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ เห็ด และสาหร่ายทะเล เป็นต้น

(3) อาหารที่อุดมไปด้วยน้ำตาลโอลิโกแซคคาไรด์ เช่น ถั่วเหลือง กล้วย และหอมใหญ่ เป็นต้น

  1. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก

การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร อย่างไรก็ดี หากดื่มมากทุกวัน จะส่งผลในการเพิ่มแบคทีเรียชนิดไม่ดีในลำไส้

  1. ใช้ชีวิตประจำวันที่เป็นปกติ

การใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ปกติ เช่น กินอาหารแล้วเข้านอน พักผ่อนน้อย ตื่นสายเกือบเที่ยงวันในช่วงวันหยุด เป็นต้น จะทำให้สมดุลของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติไป ซึ่งส่งผลเสียต่อลำไส้ ดังนั้นควรปรับช่วงจังหวะของชีวิตในแต่ละวันให้เป็นปกติ โดยการตื่นเช้า เข้านอนเร็ว และรับประทานอาหารเช้า

  1. ออกกำลังกายพอประมาณเป็นประจำ

การออกกำลังกายพอประมาณ เช่น การเดิน บริหารร่างกาย และเล่นโยคะ เป็นต้น จะช่วยส่งเสริมการเคลื่อนตัวของลำไส้ ทำให้การขับถ่ายเป็นปกติและทำให้สิ่งแวดล้อมในลำไส้ดี

  1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ

หากดื่มน้ำน้อยจะมีผลในการทำลายสิ่งแวดล้อมในลำไส้  ดังนั้นจึงควรดื่มน้ำวันละ 1.5-2 ลิตร โดยเฉพาะการดื่มน้ำอุ่นหลังจากการตื่นนอนในตอนเช้าวันละ  1 แก้ว จะช่วยกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนตัว ส่งเสริมการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายได้ดี

การดูแลสุขภาพแวดล้อมที่ลำไส้เป็นเรื่องที่เราต้องใส่ใจอย่างจริงจังและปฏิบัติให้ติดเป็นนิสัย แม้จะค่อนข้างยุ่งยากและจุกจิกในตอนแรก แต่เมื่อปฏิบัติบ่อยเข้าจะพบว่า สุขภาพเราจะแข็งแรง ผิวพรรณผ่องใส และไม่อ้วนง่าย หากอยากสวยจากภายในก็ลองหันมาดูแลใส่ใจลำไส้กันตั้งแต่วันนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook