ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดมือแค่ไหน ถึงเรียกว่า “ออฟฟิศซินโดรม”
เชื่อเถอะว่าเด็กๆ วัยนักเรียน นักศึกษา หรือเด็กจบใหม่ที่ยังไฟแรง นั่งทำงานในออฟฟิศไม่กี่เดือน อาจจะยังไม่รู้สึกถึงอันตรายของ “ออฟฟิศซินโดรม” แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณเริ่มทำงานหนักขึ้น อยู่หน้าคอมเกินวันละ 6 ชม. และอายุใกล้ หรือเลยเลขสามขึ้นไปเมื่อไร อาการต่างๆ เริ่มมาแน่นอน จะมีอาการอะไรเป็นสัญญาณเตือนให้เราต้องไปหาหมอบ้าง มาดูกันค่ะ
3 สัญญาณเตือนภัย “ออฟฟิศซินโดรม”
1. ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดคอ อาจจะเริ่มปวดโดยไม่ได้ทำอะไรหนักเป็นพิเศษ และอาจจะเริ่มปวดเรื้อรังนานขึ้นเรื่อยๆ มากกว่า 1-2 สัปดาห์เป็นต้นไป เนื่องจากนั่งทำงานนานๆ โดยไม่ได้ขยับร่างกาย หรือนั่งในท่าเดิมๆ หรือเก้าอี้และโต๊ะอาจไม่อยู่ในลักษณะที่สมดุลกับร่างกาย
2. ปวดศีรษะ หรือปวดหัวไมเกรนบ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากความเครียดสะสม ใช้สายตาหนัก นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ และไม่เป็นเวลา
3. มือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อค จากการพิมพ์งานบนคอมพิวเตอร์ หรือใช้งานเม้าส์กับคอมพิวเตอร์นานเกินไป อาจทำให้กล้ามเนื้อกดทับประสาท เส้นเอ็นอักเสบ หรือเกิดพังผืดบริเวณนิ้ว และมือได้
อันตรายของโรคออฟฟิศซินโดรม
1. เสี่ยงต่ออาการหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกทับประสาท ซึ่งอาจเป็นขั้นหนักถึงกับต้องทำกายภาพบำบัด
2. เสี่ยงต่ออาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ และโรคภูมิแพ้ เนื่องจากบรรยากาศภายในออฟฟิศมักมีอากาศที่ไม่ถ่ายเท รวมทั้งฝุ่งผงบนพื้นพรม เครื่องถ่ายเอกสารต่างๆ
3. โรคอ้วน เนื่องจากนำมาอาหารมาทานบนโต๊ะ หรือทานในออฟฟิศ ไม่ได้เดินไปไหนมาไหนมาก การเผาผลาญพลังงานในแต่ละวันลดลง หากไม่มีเวลาไปออกกำลังกาย ยิ่งเสี่ยงต่อโรคอ้วนได้มากขึ้นยิ่งขึ้น
4. เสี่ยงเป็นโรคติดต่อ เพราะเมื่อใดก็ตามที่คนรอบข้างไม่สบาย เป็นหวัด หรือเป็นโรคติดต่อชนิดอื่นๆ หากเรามีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ไม่แข็งแรงพอ ก็มีสิทธิ์ติดโรคติดต่อเหล่านั้นได้โดยง่าย
วิธีหลีกเลี่ยงโรคออฟฟิศซินโดรม
1. ปรับความสูงของเก้าอี้ และโต๊ะทำงานให้เหมาะสมกับการนั่งพิมพ์งานโดยที่ไม่เกิดอาการเมื่อย หรือต้องยกแขน ก้มหน้า มากจนเกินไป ระดับความสูงที่พอเหมาะ คือ แขนท่นบนวางราบในระดับเดียวกันกับแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ หรือโต๊ะทำงาน ไม่สูง หรือไม่ต่ำจนเกินไป หลังพิงพนักเก้าอี้ สายตาห่างจากจอคอมพิวเตอร์อย่างน้อย 1 ฟุต
2. แขนที่ใช้เม้าส์ ควรวางระนาบไปกับที่พักแขนของเก้าอี้ได้ เพื่อช่วยพยุงแขนให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับโต๊ะ หรือแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์
3. ลุกขึ้นจากเก้าอี้ เดินไปเข้าห้องน้ำ หรือเดินไปเดินมาทุกๆ 1-2 ชั่วโมง พร้อมกับพักสายตาไปด้วยในตัว มองวิวนอกหน้าต่าง หรือมองต้นไม้สีเขียว ก็จะช่วยพักผ่อนสายาตาของเราได้ด้วย
4. หากสามารถเปิดหน้าต่างของห้องทำงาน หรือภายในออฟฟิศได้บ้าง ก็จะช่วยทำให้อากาศภายในที่ทำงานปลอดโปร่ง ถ่ายเทได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
5. พักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้ครบ 6-8 ชั่วโมง และนอนให้ตรงเวลาให้ได้มากที่สุด
6. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
7. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
อย่ารอให้อาการออฟฟิศซินโดรมถามหาในระยะที่เป็นหนักมากนะคะ เพราะนอกจากจะต้องเสียเวลาจนไม่ได้ทำงานอย่างที่ใจคิดแล้ว ยังเสียเงินพบแพทย์ และเสียเวลาทำกายภาพบำบัด หรือทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง ขอบอกเลยว่าออฟฟิศซินโดรมไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันสองวัน เราใช้เวลาร่วมเดือนร่วมปีถึงจะมีอาการออกมา เพราะฉะนั้นตอนรักษาให้หาย ก็ไม่ได้ใช่เวลารอดเร็วอย่างที่ใจอยากให้เป็นแน่นอน ดูแลสุขภาพกันให้ดีๆ จะได้แข็งแรง ทำงาน ไปเที่ยว และใช้ชีวิตอยู่กับคนที่เรารักไปได้นานๆ นะคะ