ผู้ป่วย “หอบหืด” กับอาหารที่ควร-ไม่ควรกิน
โรคหอบหืด มีสาเหตุมาจากสารระคายเคืองต่างๆ เข้าไปยังช่องทางเดินหายใจส่งผลให้เกิดภูมิแพ้ มีการผลิตน้ำมูกเพิ่มในปริมาณมากจนอุดตัน หายใจลำบาก เพื่อช่วยบรรเทาอาการของหอบหืดลง ควรหมั่นดูแลตนเอง และเลือกรับประทานสารอาหาร ที่เหมาะสม
สารอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืด
จากหลักฐานการศึกษาพบว่าผู้ที่รับประทานอาหาร หรือวิตามิน ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยให้บรรเทาอาการของโรคหอบหืดลง และปกป้องเซลล์ที่ได้รับความเสียหาย ที่สำคัญการที่ร่างกายได้รับสารอาหารที่ดีเพียงพอต่อวัน อาจทำให้ร่างกายสามารถสู้กับเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจก่อนจะเกิดอาการของหอบหืดในระดับรุนแรงขึ้น
สารอาหารที่อาจเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืด มีดังนี้
- โคลีน (Choline)
โคลีน เป็นสารอาหารที่คล้ายกับวิตามินบี โดยจะพบได้ในเนื้อสัตว์ ปลา ถั่ว ผัก และไข่ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยให้ระบบประสาททำงานได้ดี ลดอาการบวมอักเสบ นอกจากในรูปแบบของอาหาร โคลีนยังเป็นส่วนประกอบที่นำมาใช้ทำเป็นยาพ่นผ่านช่องปาก ขยายหลอดลม และบรรเทาอาการที่ผู้ป่วยโรคหอบหืดเป็นได้ อย่างไรก็ตามโคลีนยังอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น อาการท้องร่วง อาเจียน เหงื่อออกมาก ควรปรึกษาหมอก่อนรับประทาน
- แมกนีเซียม (Magnesium)
แมกนีเซียม คือแร่ธาตุที่สำคัญมีส่วนช่วยเสริมสร้างกระดูกในร่างกายให้แข็งแรง แต่นอกจากจะช่วยบำรุงกระดูก แมกนีเซียมยังช่วยให้กล้ามเนื้อหลอดลมผ่อนคลาย ขยายทางเดินหายใจให้อากาศไหลเข้า และไหลออกจากปอดได้สะดวกขึ้น อีกทั้งยังอาจช่วยบรรเทาอาการหอบหืดเฉียบพลันได้ และอาจปลอดภัยสำหรับผู้ที่รับประทานในปริมาณน้อยกว่า 350 มิลลิกรัมต่อวัน ถึงอย่างไรควรคำนึงถึงผลข้างเคียงที่อาจตามมาร่วม เช่น อาการท้องร่วง คลื่นไส้ หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ หายใจลำบาก
- พิกโนจีนอล(Pycnogenol)
พิกโนจีนอล เป็นสารประกอบของสารเคมีธรรมชาติที่มาจากเปลือกต้นสน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ในร่างกายได้รับความเสียหาย ช่วยลดอาการของ หอบหืด และโรคภูมิแพ้ได้ จากการวิจัยของสหรัฐอเมริกาในการศึกษาเด็กที่เป็นโรคหอบหืด แสดงให้เห็นว่าการรับประทานพิกโนจีนอลอย่างน้อย 5 สัปดาห์แรก ก่อนเข้าช่วงโรคภูมิแพ้ตามฤดูกาล อาจช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น นอกจากนี้ยังอาจช่วยลดปริมาณการับประทานยารักษาโรคหอบหืดบางชนิดลง แต่ขณะเดียวกันพิกโนจีนอลอาจไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีประวัติทางสุขภาพเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ได้แก่ โรคลูปัส โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ข้ออักเสบรูมาตอยด์
- กรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3 fatty acids)
จากการศึกษาในเด็กโดยนักวิจัยของสถาบัน Johns Hopkins Medicine เพิ่มหลักฐานที่อาจชี้ได้ว่ากรดไขมันโอเมก้า 3 ในอาหารอาจส่งผลบรรเทาอาการของ หอบหืด จากมลพิษทางอากาศได้ โดยอาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ทูน่า วอลนัท น้ำมันคาโนล่า เป็นต้น ในขณะเดียวกันโอเมก้า 6 อาจให้ผลตรงกันข้าม ทำให้เด็กมีโอกาสมีอาการของโรคหอบหืดที่รุนแรงขึ้น ซึ่งอาหารที่มีโอเมก้า 6 ที่ควรหลีกเลี่ยง คือ น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันข้าวโพด
- เทียนดำ (Black Seed)
เทียนดำ หรือ Black Seed เป็นพืชที่ถูกนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรมากกว่า 2,000 ปี ซึ่งอาจมีส่วนช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ลดอาการบวม ลดอาการภูมิแพ้ พร้อมทั้งลดอาการไอ ปรับปรุงระบบการหายใจ และการทำงานของปอดในผู้ป่วยโรคหอบหืดได้ หากจะใช้ Black Seed ได้อย่างปลอดภัยควรใช้ปริมาณเล็กน้อยในการนำมาปรุงแต่งเพิ่มรสชาติอาหาร เพื่อป้องกันอาการท้องผูก ปวดท้อง และอาเจียน
ไม่ว่าจะเลือกรับประทานสารอาหารชนิดใด ควรรับประทานแบบพอดี และควรเข้ารับการตรวจเช็กร่างกายเบื้องต้น รวมถึงรับคำปรึกษาจากคุณหมอ เพื่อความปลอดภัยของระบบทางเดินหายใจ และสุขภาพกายโดยรวม
อาหารที่อาจทำให้อาการหอบหืดแย่ลง
หากได้รับสารอาหาร หรือโภชนาการที่ไม่ดีต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลให้อาการของโรคหอบหืด รุนแรงขึ้นได้ โดยอาหารที่ควรเลี่ยง มีดังนี้
- อาหารที่มีแคลอรี่สูง การกินอาหารที่มีแคลอรี่สูงมากเกินกว่าระบบการเผาผลาญจะทำงานทัน อาจทำให้มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น และส่งผลเสียต่อสุขภาพ รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืดด้วย อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดอาการ หอบหืด รุนแรงได้มากกว่าเดิม
- สารกันบูด คือกลุ่มสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfur dioxide) ที่ถูกนำมาใช้เป็นสารกัดบูด และต้านอนุมูลอิสระ ในอาหาร และเครื่องดื่มบางประเภท เพื่อหยุดการเติบโตของเชื้อรา แม้ว่าสารกัดบูดที่ใช้สำหรับอาหารในปริมาณที่พอดีอาจไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่ก็อาจทำให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดมีอาการแย่ลง สร้างความระคายเคืองให้ปอด ซึ่งส่วนใหญ่สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์นี้มักอยู่ในน้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอาหารแปรรูปหลายชนิดได้แก่ ผัก ผลไม้อบแห้ง
- อาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้ ปฏิกิริยาการแพ้อาหารของแต่ละบุคคลมักแตกต่างกันออกไป หากรู้ตนเองว่ามีอาการแพ้อาหารชนิดใดอยู่ไม่ว่าจะเป็น แพ้ถั่ว แพ้นมวัว แพ้ไข่ เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอย่างทันท่วงทีเพราะอาจส่งผลให้อาการ หอบหืด แย่ลงได้
การดูแลตัวเองบรรเทาอาการหอบหืด
นอกจากการเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยบรรเทาอาการหอบหืด การดูแลตัวเองร่วมก็เป็นอีกหนทางที่อาจช่วยให้อาการของ หอบหืด ไม่แย่ลงไปกว่าเดิมได้ ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หรือสารระคายเคืองที่เข้าไปกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด
- ใช้ยาพ่นตามที่คุณหมอแนะนำ เมื่อมีอาการหอบหืด
- รับประทานยาตามที่คุณหมอกำหนดสม่ำเสมอ ถึงแม้จะมีอาการดีขึ้น ก็ควรรับประทานต่อไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าคุณหมอจะอนุญาตให้หยุดยา