ทึ่ง! ตัวเลขผู้ป่วยไบโพลาร์เสี่ยงฆ่าตัวตาย 1 ใน 5 ราย
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงข่าวเนื่องในวันไบโพลาร์โลก (World Bipolar Day) ซึ่งตรงกับทุกวันที่ 30 มีนาคมของทุกปี ว่า โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคอารมณ์ผิดปกติที่พบได้บ่อยในทั่วโลกประมาณร้อยละ 1-2 ขณะที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า โรคไบโพลาร์ เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือความพิการ อันดับที่ 6 ของโลก อย่างไรก็ตาม โรคไบโพลาร์สามารถรักษาและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนโรคเรื้อรังทั่วไป ที่ต้องได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้าง รวมทั้ง ได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง แต่หากไม่ได้รับการรักษาหรือติดตามดูแลอย่างเหมาะสม จะสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ถึงร้อยละ 80-90 สำหรับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีญาติเป็นโรคซึมเศร้าหรือเป็นโรคไบโพลาร์ มีวงจรการกิน การนอนที่ผิดปกติ มีเหตุการณ์พลิกผันของชีวิต ตลอดจนมีการใช้สารเสพติด
นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันสถิติคนไข้ในของโรงพยาบาลศรีธัญญาลดลง โดยไบโพลาร์จัดอยู่ในอันดับ 2 ของกลุ่มจิตเวชที่เข้ามารับการรักษา รองจากโรคจิตเภท ส่วนอัตราผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2558 มีผู้ป่วยโรคจิตเวชอยู่ที่ 117,000 ราย ส่วนใหญ่มาจาก กทม. และ จ.นนทบุรี ซึ่งโรคไบโพลาร์พบมากเป็นอันดับที่ 3 มีจำนวนผู้ป่วยถึง 9,100 ราย รองจากโรคจิตเภท และโรคซึมเศร้า ทั้งนี้ สังเกตอาการผู้ป่วยไบโพลาร์ โดยจะมีอารมณ์แปรปรวนที่ผิดปกติแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือ อารมณ์เศร้าหรืออารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกติ ในช่วงระยะอารมณ์ซึมเศร้า (Depression) ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้า หดหู่ ร้องไห้ง่าย เบื่ออาหาร เชื่องช้า ลังเล ตัดสินใจไม่แน่นอน ไม่มั่นใจตัวเอง คิดช้า ไม่มีสมาธิ รู้สึกว่าชีวิตตนเองไม่มีคุณค่า และมีความคิดฆ่าตัวตาย ส่วนในช่วงที่มีอารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกติ (Mania) ผู้ป่วยจะรู้สึกมีความสุขมาก อารมณ์ดี คึกคัก มีกำลังวังชา ขยันกว่าปกติแต่ทำได้ไม่ดี นอนน้อยลง พูดคุยทักทายผู้อื่น แม้แต่กับคนแปลกหน้า พูดมาก พูดเร็ว กิจกรรมทางเพศเพิ่มขึ้น ใช้จ่ายเปลือง เชื่อมั่นตนเองมาก ขาดความยับยั้งชั่งใจ หากถูกห้ามปรามหรือขัดขวางในสิ่งที่ต้องการจะหงุดหงิดฉุนเฉียว ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบมีอาการหลงผิดแบบมีความสามารถพิเศษเหนือคนอื่นจนถึงมีภาวะหวาดระแวงได้
นพ.สันติชัย ฉ่ำจิตรชื่น รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคดังกล่าวมักพบในกลุ่มอายุ 20-30 ปี มีประมาณ 8-9 ใน 10 คน โดยโรคไบโพลาร์ มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งที่ผ่านมาพบประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย และมีส่วนหนึ่งที่สำเร็จ