"เดลต้าพลัส" อันตรายกว่าโควิด-19 สายพันธุ์อื่นอย่างไร
วันที่ 25 ตุลาคม 2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน เผยว่า ประเทศไทยมีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพลัส หรือ AY.4.2 จำนวน 1 ราย โดยเป็นชายอายุ 49 ปี มีประวัติทำงานที่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากการส่งตัวอย่างไปที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทางทหาร กองทัพบก พบสายพันธุ์ AY.4.2 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ซึ่งผู้ป่วยได้รักษาหายแล้ว และมีการสุ่มตรวจรายอื่นๆ ยังไม่พบผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับผู้ป่วยรายนี้ อีกทั้งสุ่มตรวจเป็นระยะๆ ยังไม่พบการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีเรื่องอะไรที่เราควรทราบจากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพลัสกันบ้าง อันตรายแค่ไหน วัคซีนที่มีอยู่ในไทยตอนนี้สามารถป้องกันสายพันธุ์นี้ได้มากน้อยแค่ไหน และควรระมัดระวังกันอย่างไร Sanook Health มีข้อมูลมาฝาก
เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพลัส เป็นอย่างไร
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล หนองแขม ระบุว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพลัส หรือ AY.4.2 เป็นสายพันธุ์ย่อยมาจากโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ที่มีความสามารถจับเซลล์ของมนุษย์ได้ง่ายขึ้น ติดง่ายขึ้น แพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา (สายพันธุ์อังกฤษ) 1.4 เท่า หรือ 60% เชื้อไวรัสลงปอดได้เร็วขึ้น และยังอยู่ในร่างกายเราได้นานขึ้น โดยกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลตาพลัสนั้น เป็นการกลายพันธุ์ในกรดอะมิโน ที่เรียกว่า k417n เป็นกรณีกลายพันธุ์ที่คล้ายกับสายพันธุ์เบต้า หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ โดยเพิ่มสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นกว่าปกติ
เดลต้า VS เดลต้าพลัส
ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า หลังจากโควิดสายพันธุ์เดลต้า กลายพันธุ์เป็นเดลต้าพลัส เชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น คือ
- สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นกว่าปกติ
- แพร่เชื้อไวรัสได้ง่ายขึ้นกว่าเดลต้าเดิม 17% รวมถึงอัตราการติดเชื้อภายในครัวเรือนมากขึ้นกว่าเดิม 12% (ช่วงความเชื่อมั่น 8-16%)
- จากงานวิจัยหลายชิ้นว่า เดิมอัตราการแพร่ให้คนที่อยู่ในครัวเรือนเดียวกัน เฉลี่ยประมาณ 18-20% โดยถือเป็นสายพันธุ์ที่ติดต่อได้ง่ายที่สุดในไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์
วัคซีนในไทย ยังป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพลัสได้หรือไม่
ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเป็นตัวเลขชัดเจนว่าวัคซีนอย่างซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ โมเดอร์นา ที่เริ่มเข้ามาในไทย สามารถป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพลัสได้มากน้อยแค่ไหน แต่ยังยืนยันว่าวัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลต้าพลัสได้ และที่สามารถช่วยได้จริงๆ คืออัตราการเจ็บป่วยหนัก รวมถึงอัตราการเสียชีวิตที่วัคซีนที่เรามีอยู่ในรไทยขณะนี้ สามารถลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยหนักและเสียชีวิตได้จริง
วิธีป้องกันตัวเองจากโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าพลัส
ยังคงเป็นวิธีเดิมกับโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่แหล่งชุมชนแออัด คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก
- รักษาระยะห่างกับคนทั่วไป
- สวมใส่หน้ากากอนามัยในขณะที่อยู่นอกบ้านตลอดเวลา
- ล้างมือด้วยเจล/สเปรย์แอลกอฮอล์ หรือสบู่ น้ำยาล้างมือต่างๆ ระหว่างวัน ก่อนเอามือสัมผัสอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ก่อนรับประทานอาหาร
- หากมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัด มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส และอื่นๆ ควรทำการทดสอบหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเอง และหากมีผลเป็นบวก (ติดเชื้อ) ควรเริ่มกักตัวเองไม่ใกล้ชิดกับคนอื่น และติดต่อโรงพยาบาลทันที