"อ้วนแต่ฟิต-ผอมแต่อ้วน" น้ำหนักอาจทำให้คุณเข้าใจร่างกายตัวเองผิด

"อ้วนแต่ฟิต-ผอมแต่อ้วน" น้ำหนักอาจทำให้คุณเข้าใจร่างกายตัวเองผิด

"อ้วนแต่ฟิต-ผอมแต่อ้วน" น้ำหนักอาจทำให้คุณเข้าใจร่างกายตัวเองผิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อ้วนแต่ฟิต-ผอมแต่อ้วน สองคำนี้อ่านเร็วๆ อาจจะไม่เข้าใจ แต่หมายความคร่าวๆ ว่า คนอ้วนก็สุขภาพดีได้ และคนผอมก็ไม่ได้สุขภาพดีเสมอไป ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น Sanook Health มีคำตอบจาก พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท มาฝากกัน


เมื่อพูดถึงการลดน้ำหนัก เราก็มักจะใช้น้ำหนักเป็นเกณฑ์ติดตามและชี้วัด โดยเฉพาะการใช้ดัชนีมวลกายคือ น้ำหนักหารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่แพทย์ใช้ตัดสินว่าใครเข้าเกณฑ์น้ำหนักตัวเกิน (Overweight) และใครสอบตกจนเข้าเกณฑ์โรคอ้วน (Obesity)  

แต่เกณฑ์นี้อาจไม่ได้ใช้ได้ในทุกกรณี เพราะจริงๆแล้วมีคนบางคนที่ดัชนีมวลกายหรือ BMI เกินเกณฑ์ แต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในร่างกายแบบคนอ้วน ระดับและการตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินปกติ ค่าการอักเสบในระดับเซลล์ปกติ ค่าคอเลสเตอรอลในเลือดปกติ และความเสี่ยงต่อโรคต่างๆที่มากับโรคอ้วนก็ไม่ต่างจากคนทั่วไป คนกลุ่มนี้มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Metabolically healthy obese หรือ MHO แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า คนอ้วนแต่ฟิต 

ในทางตรงข้าม คนอีกกลุ่มหนึ่งมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่เมื่อตรวจร่างกาย กลับมีค่าคอเลสเตอรอลในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน หรืออาจมีไขมันพอกตับทั้งที่ไม่ได้ดูอ้วน คนกลุ่มนี้เราเรียกว่า Metabolically obese but normal-weight หรือ MONW แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า คนน้ำหนักปกติที่แอบอ้วน 

สาเหตุหลักที่อธิบายปรากฏการณ์ย้อนแย้งตาชั่งนี้ อธิบายได้จากประเภทของไขมันที่สะสมในร่างกาย 

ไขมันประเภทแรกคือ ไขมันสะสมใต้ผิวหนัง หรือ Subcutaneous fat เป็นไขมันที่เราหยิบจับผิวขึ้นมาเล่นตามหลังแขน ต้นขา หรือผนังหน้าท้อง ไขมันประเภทนี้จับต้องได้แต่ไม่น่ากลัว เพราะไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆเช่น เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ เหมือนไขมันอีกประเภท 

Visceral fat หรือไขมันในช่องท้อง เป็นไขมันประเภทที่สองซึ่งจับต้องไม่ได้ แต่อันตรายกว่า เพราะหลั่งสารก่อการอักเสบทำให้การทำงานในร่างกายรวน เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ เป็นไขมันที่ซ่อนตัวอยู่เงียบๆในพุง เหมือนเป็นระเบิดเวลานับถอยหลัง 

และไขมันอีกประเภทที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ Ectopic fat หรือไขมันที่อยู่ผิดที่ผิดทาง คือไปอยู่ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ตับอ่อน และอวัยวะอื่นๆ ซึ่งเมื่อสะสมนานวันเข้า ก็จะส่งผลต่ออวัยวะนั้นๆ เช่น เมื่อไขมันพอกตับเพิ่มดีกรีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะกลายเป็นโรคตับแข็งได้ แม้ไม่ได้ดื่มสุรา 

ย้อนกลับมาที่พระเอกของบทความนี้ คนอ้วนแต่ฟิต หรือ MHO สาเหตุหลักที่คนกลุ่มนี้อ้วนแต่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะไขมันที่สะสมในร่างกายเป็นไขมันที่กระจายตามชั้นผิวหนัง สะโพก ต้นขา มากกว่าสะสมอยู่ในช่องท้อง หรือไปสะสมตามอวัยวะต่างๆ  

ในทางตรงข้าม คนน้ำหนักปกติแต่แอบอ้วน หรือ MONW นั้น ภายใต้รูปร่างปกติ ไม่ได้อ้วนมาก อาจจะแค่ดูมีพุงพอประมาณ แต่กลับมีไขมันสะสมซ่อนอยู่ในช่องท้องมาก หรืออาจลามไปถึงไขมันที่พอกในตับ และมีผลเสียต่อสุขภาพเกิดขึ้นในร่างกาย 

ดังนั้น สำหรับคนน้ำหนักปกติ ที่แอบมีพุง และเคยตรวจสุขภาพแล้วมีผลคอเลสเตอรอลในเลือดสูง หรือเริ่มมีไขมันพอกตับ ไม่ควรที่จะนิ่งเฉย แต่ควรเริ่มต้นดูแลสุขภาพด้วยการปรับการกินอาหารและออกกำลังกาย โดยตั้งเป้าไปที่การลดรอบเอว เพื่อให้สุขภาพดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆที่จะตามมา 

ส่วนคนที่ดัชนีมวลกายหรือน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ปกติ แต่อัตราส่วนรอบเอวหารด้วยรอบสะโพกไม่เกิน 0.85 เคยตรวจสุขภาพแล้วค่าคอเลสเตอรอลในเลือด ค่าน้ำตาล รวมถึงการตรวจอื่นๆปกติหมด อาจจะไม่ต้องกังวลกับน้ำหนักตัวมากไปนัก แต่ก็ควรดูแลการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายไม่ให้มากจนเกินเกณฑ์ และถ้าสามารถลดรอบเอวลงมาได้อีก ก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพอย่างยั่งยืน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook