"เบาหวานขณะตั้งครรภ์" โรคอันตรายที่คุณแม่ต้องรู้
โรคเบาหวานเป็นหนึ่งในโรคแทรกซ้อนที่มักพบในสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้อย่างเพียงพอ จนมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แม้ว่าโรคเบาหวานมักจะหายไปภายหลังการคลอด แต่หากระหว่างที่ตั้งครรภ์ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องอาจเป็นอันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์ได้ เช่น ครรภ์เป็นพิษ การแท้งบุตร ทารกตัวโต ทารกเสีย คลอดไม่ทราบสาเหตุ ปอดทารกไม่สมบูรณ์ หรือ Respiratory Distress Syndrome (RDS) การคลอดติดไหล่ เพิ่มโอกาสการผ่าตัดคลอด ทารกน้ำตาลในเลือดต่ำหลังคลอด
คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะเริ่มกังวลใจ นายแพทย์ธิติพันธุ์ น่วมศิริ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM) โรงพยาบาลนวเวช จึงได้มาอธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ เพื่อเป็นแนวทางให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ในการดูแลตัวเองก่อนที่จะสายเกินไป
อาการเป็นอย่างไร
โรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติใดๆ อาจตรวจพบว่าทารกในครรภ์ตัวโต (macrosomia) ครรภ์แฝดน้ำ (น้ำคร่ำมากผิดปกติ) และในบางรายอาจพบความพิการแต่กำเนิดของทารกได้ แพทย์จึงแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติของทารก รวมถึงตรวจหาความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์
สาเหตุของโรค
มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ ทำให้ระบบการเผาผลาญน้ำตาลเปลี่ยนแปลง หรือเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และต้องการอินซูลินในการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสให้กลายเป็นพลังงานมากขึ้น ทำให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ สามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุครรภ์ แต่มักเกิดในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ หรือประมาณ 24-28 สัปดาห์
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวานในขณะตั้งครรภ์
- อายุมากกว่า 35 ปี
- ภาวะอ้วน หรือน้ำหนักขึ้นเร็วในระหว่างตั้งครรภ์
- มีญาติใกล้ชิดเป็นเบาหวาน
- เคยเป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์
- ประวัติการคลอดที่ผ่านมาผิดปกติ เช่น ทารกตัวโต (>4000 กรัม) ทารกตายคลอด พิการแต่กำเนิด ภาวะครรภ์แฝดน้ำ (น้ำคร่ำมากผิดปกติ)
- พบน้ำตาลในปัสสาวะ
แนวทางรักษา
วิธีการรักษาจะคล้ายคลึงกับการรักษาโรคเบาหวานทั่วไป โดยเน้นการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และป้องกันภาวะแทรกซ้อน ในบางกรณี แพทย์อาจจะให้ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่บ้านเพื่อนำมาใช้ในการรักษาต่อไป แนวทางในการรักษาอาจแบ่งง่ายๆ ออกเป็น 2 วิธี คือ
- แบบไม่ใช้ยา (nonpharmacologic treatment) โดยให้ผู้ป่วยควบคุมอาหาร ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ลดปริมาณอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต จำพวกแป้งและน้ำตาล และเพิ่มสัดส่วนของโปรตีน ไขมัน ผัก ผลไม้ ธัญพืช รวมถึงออกกำลังกายเป็นประจำ
- แบบใช้ยา (pharmacologic treatment) เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยตนเอง แพทย์จะรักษาด้วยอินซูลินหรือยากินเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด และให้ผู้ป่วยเจาะเลือดตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับการรักษาได้อย่างเหมาะสม
การดูแล
แพทย์จะทำการตรวจคัดกรองตามปัจจัยเสี่ยงของแต่ละคน โดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย หากอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจะมีการตรวจทันทีตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์ และตรวจซ้ำเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ แต่หากไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงจะให้ตรวจเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ โดยการตรวจทำได้ 2 วิธี คือ
- การตรวจคัดกรองแล้วจึงตรวจวินิจฉัยในรายที่ผลการตรวจคัดกรองผิดปกติ (Two-Step Approach)
- ตรวจคัดกรองด้วย 50 g Glucose Challenge Test (GCT) เป็นวิธีที่ไม่ต้องงดน้ำและอาหารมาก่อนตรวจ ให้หญิงตั้งครรภ์ดื่มน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม แล้วเจาะเลือดหลังดื่มน้ำตาล 1 ชั่วโมง
- ตรวจวินิจฉัยด้วย 100 g Oral Glucose Tolerance Test (OGTT) เมื่อผลตรวจคัดกรอง 50 g GCT ผิดปกติ โดยต้องงดน้ำและอาหารก่อนตรวจอย่างน้อย 8 ชั่วโมง จากนั้นเจาะเลือดตรวจ Fasting Glucose แล้วให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส 100 กรัม จากนั้นเจาะเลือดซ้ำทุก 1 ชั่วโมง จำนวน 3 ครั้ง
- ตรวจเพื่อการวินิจฉัยโดยไม่ต้องตรวจคัดกรองก่อน (One-Step Approach)
- ตรวจวินิจฉัยด้วย 75 g Oral Glucose Tolerance Test (OGTT) ทำเช่นเดียวกับ 100 g OGTT โดยต้องงดน้ำและอาหารก่อนตรวจอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เจาะเลือดตรวจ Fasting Glucose จากนั้นดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม แล้วเจาะเลือดซ้ำทุก 1 ชั่วโมง จำนวน 2 ครั้ง
ป้องกันอย่างไร
เบาหวานในขณะตั้งครรภ์อาจไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ โดยการดูแลตัวเองดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง รับประทานอาหารให้หลากหลายให้เพียงพอต่อความต้องการสารอาหารในแต่ละวัน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งก่อนตั้งครรภ์และหลังตั้งครรภ์
- ควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อนตั้งครรภ์ และควบคุมน้ำหนักไม่ให้ขึ้นมากเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์
- ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์
- ฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้รับการตรวจเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
โดยสรุปแล้ว แม้ว่าภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะไม่สามารถป้องกันได้ แต่หากรับประทานอาหารอย่างสมดุล ออกกำลังกายเป็นประจำ รวมถึงการฝากครรภ์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การฝากครรภ์และการพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความรุนแรงของโรค