วิธีดูแลอาการปวดจากมะเร็ง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย

วิธีดูแลอาการปวดจากมะเร็ง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย

วิธีดูแลอาการปวดจากมะเร็ง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มะเร็งถือเป็นโรคที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี เพราะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตลำดับต้นๆ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก มะเร็งที่พบในมนุษย์มีมากกว่า 100 ชนิด โดยมีสาเหตุมาจากเซลล์ในร่างกายที่มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติและกลายเป็นเนื้อร้าย ด้วยการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ที่เร่งรีบ ขาดการออกกำลังกาย และนิยมทานอาหารฟาสต์ฟู้ด รวมถึงมลภาวะต่างๆ เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมะเร็งมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2573  จะมีผู้ป่วยมะเร็งในเอเชียเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 11 ล้านรายต่อปี เลยทีเดียว

 

สำหรับในประเทศไทย พญ. ลักษมี ชาญเวชช์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความปวด โรงพยาบาลวัฒโนสถ เปิดเผยว่า “จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าในปี พ.ศ. 2557 มีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมากถึงกว่า 7 หมื่นคน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ และในอนาคตปัญหาโรคมะเร็งในประเทศไทยจะมีความน่ากังวลมากขึ้นเพราะเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงมีความเสี่ยงที่จะพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาความปวดจากมะเร็งในระยะลุกลามและระยะท้าย รวมทั้งผลข้างเคียงจากการรักษาก็จะมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างรอบด้านจึงเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายควรให้ความสนใจด้วยเช่นกัน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวันและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นได้”

 

อาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยมะเร็ง ได้แก่

 

  • อาการปวด ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดโดยเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ อาการปวดที่เกิดจากมะเร็งโดยตรง เช่น ก้อนเนื้อที่กดทับหรือลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรือเส้นประสาท และอาการปวดหลังการรักษาหรืออาการสืบเนื่องจากการรักษา เช่น ผลจากการให้เคมีบำบัด รวมถึงอาการปวดที่ไม่เกี่ยวเนื่องจากมะเร็ง ได้แก่ ความปวดที่เกิดจากขั้นตอนการวินิจฉัยโรคและผลจากการรักษา
  • อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากเคมีบำบัดทั้งแบบเฉียบพลันและเกิดภายหลัง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยหลังการทำเคมีบำบัด
  • ภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบและทำให้มีอาการปวด ซึ่งพบในผู้ป่วยกว่า 40% ที่เข้ารับการรักษามะเร็งด้วยวิธีต่างๆ เช่น รังสีรักษา และเคมีบำบัด รวมทั้งการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ซึ่งภาวะนี้อาจนำไปสู่การติดเชื้อที่ส่งผลถึงชีวิตได้

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาการข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่กลับพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับทั่วโลกแล้ว มีผู้ป่วยในไทยจำนวนน้อยมากที่ได้รับยากลุ่มโอปิออยด์เพื่อดูแลอาการปวดในระดับกลางถึงรุนแรง

 

นพ. บาร์ท เมอร์ลิออน ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยลูเว่น ประเทศเบลเยี่ยม เปิดเผยว่า “การบรรเทาอาการปวดจากมะเร็งในระดับกลางถึงรุนแรงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วย และช่วยให้การรักษาโรคมะเร็งมีความต่อเนื่อง เราพบว่าการใช้ยาในกลุ่มโอปิออยด์ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะบรรเทาความปวดจากมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการใช้ยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอลซึ่งมีผลต่อตับ โดยก่อนการใช้ยาในกลุ่มโอปิออยด์นั้น แพทย์จะซักถามผู้ป่วยถึงระดับความรุนแรงของอาการปวดอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถสั่งจ่ายยาได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด”

 

นายอูโก้ ซาฟเวดรา กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท มุนดิฟาร์มา จำกัด กล่าวว่า “ปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งจำนวนน้อยมากที่ได้รับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านความปวด อีกทั้งจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้ปัญหาความปวดที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งมีเพิ่มขึ้น และเป็นภัยร้ายแรงสำหรับผู้ป่วย จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรและสถาบันต่างๆ และธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ ตลอดจนหน่วยงานที่มีอำนาจในการออกระเบียบข้อบังคับ ต้องร่วมมือกันเพื่อพัฒนาการดูแลเรื่องความปวดจากมะเร็งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ดียิ่งขึ้น”

 

ขอบคุณข้อมูลจาก มุนดิฟาร์มา
ภาพประกอบจาก istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook